เบนซ์นะจ๊ะในรั้ววิศวฯ จุฬาฯ — Episode 1: เป็นน้องปี 1 นี่มันดีจริงๆ
บล็อกซี่รี่ย์นี้จะขอให้เป็นที่บันทึกเรื่องราวสุดโหด มันส์ ฮา (เครียดนิดๆ) ตลอด 4 ปีในรั้ววิศวฯ จุฬาฯ
ตอนนี้ก็อยู่ปี 4 ละ…เป็นเรื่องปกติที่คนแก่(เดี๋ยว)จะชอบพูดเรื่องราวในอดีตกัน ยิ่งระยะหลังเรื่องราวชีวิตในรั้วจุฬาฯ ตอนที่ยังอยู่ปี 1–3 ก็กลายเป็นบทสนทนาบนโต๊ะอาหารบ่อยพอสมควร ก็เลยจะมาเขียนเล่าเรื่องตั้งแต่ก้าวข้ามชีวิตมัธยม สู่มหาลัยเลยละกัน
(จริงๆ คืออยากพักโหมด geek zone บ้าง มารำลึกความหลังแทน 55)
ก้าวผ่านชีวิตมัธยม สู่นิสิตจุฬาฯ
“นั่นกูเหรอวะ” — เบนซ์ในปี 2017 ได้กล่าวไว้
ตอนเรียนอยู่ม.6 ก็มีสอบแอดฯ ตอนนั้นก็มีไปสอบตรงที่วิศวะคอม บางมด กับสอบ GAT/PAT ไป ก็ติดทั้งรับตรงวิศวะคอมบางมด กับ วิศวะคอมจุฬาฯ นี่แหละ จากการคิดและตัดสินใจหลายๆ อย่าง สุดท้ายก็เลือกจุฬาฯ ครับ (ปัจจัยหนักแน่นสุดพูดตรงๆ คือเรื่องชื่อเสียง กับ reaction ของที่บ้านนี่แหละ ถ้าไม่นับสองอันนี้ ผมถือว่าทั้งสองม. นั้นต่างมีดีทั้งคู่)
เอาจริงตอนนั้นชีวิตไม่รู้สึกเหนื่อยยากมาก โดยเฉพาะเรื่องเลือกที่เรียน เพราะก็รู้ว่าอยากเรียนอะไรมาตั้งแต่ม.5 ละ (ผลจากค่ายสอวน.คอมพิวเตอร์) ตอนม.6 ก็จะโฟกัสได้ตรงจุดหน่อย อยากเข้าวิศวะคอม ต้องสอบฟิสิกส์ และใช้ PAT3 เยอะ ก็เรียนพิเศษฟิสิกส์หนักๆ เลขก็หาโจทย์มาทำเพิ่มๆ (อังกฤษกินบุญเก่าเอา) ตอนนั้นหลายคนอาจคิดว่าเป็นช่วงชีวิตที่แม่งโคตรหนักเลย แต่อยากจะบอกว่า เข้ามาเรียนที่จุฬาฯ (หรือม.ไหนๆ) เนี่ยแหละยากกว่าสอบเข้ามาอีก
จนมีคนบอกว่า
การสอบที่ง่ายที่สุดในจุฬาฯ คือการสอบเข้า
แน่นอนว่าพอจากลาเพื่อนๆ ม.6 มา ต่างคนต่างไปเรียนต่อกันหลายๆ ที่ หลายๆ สาขา ไปเจอสังคมใหม่ ผมเองก็เช่นกัน ตามธรรมเนียมน้องใหม่จุฬาฯ ก็มีกิจกรรมต้องเข้าร่วมหลายอัน ผมก็เข้าหมดเลย เริ่มตั้งแต่ CU First Date (ซึ่งจริงๆ มันควรจะชื่อว่า CU Shirt Date เพราะขายเสื้อกันเยอะมากๆ และโคตรแพง ถ้าอยากได้ถูกๆ ก็รอบ่ายๆ นี่ได้ถูกมาก แต่ลายสวยๆ ก็จะหมดกันไปแล้ว) ต่อด้วยค่ายวิษณุกรรมบุตร และรับน้องก้าวใหม่ ปิดด้วย meet up CP40 ที่จัดโดยพี่ๆ CP39
ช่วงรับน้องสามงานนั้น ก็ถือว่าเป็นการปรับมุมมองของจุฬาฯ ที่เคยได้ยินมาได้ระดับนึงเลย ได้เห็นสปิริตความใจของพี่ๆ เยอะ อย่างค่ายวิษณุนี่ เวลาเข้าห้องน้ำที ก็มีพี่พาไป พี่ๆ ก็ดูแลดีมากๆ หรืออย่างรับน้องก้าวใหม่ พี่แต่ละคนนี่ประเคนน้ำ ขนมชนิดที่เรียกว่าอิ่มแล้วอิ่มอีก (ยังไม่นับที่ยืนพัดทั้งวี่ทั้งวันก็ไม่หยุดพัด รวมถึงสันเหนื่อยชิบหาย แล้วยังไปยกน้ำมาให้น้องกินอีก)
สมัยปี 1 #นั่นกูเหรอ…และนั่นก็เพื่อนกูเหรอ5555
จนเรียกได้ว่า ที่จุฬาฯ แล้ว น้องๆ ปี 1 นี่ แทบจะเป็นพระเจ้าเลย สั่งอะไรหาให้ได้แทบหมด (ในค่ายหรือกิจกรรมนะ นอกจากนั้นก็ตามสภาพการณ์ของพี่ๆ ละ 55)
และแน่นอนว่า พอน้องปี 1 แทบจะเป็นพระเจ้าแล้ว ดังนั้นที่จุฬาฯ จึงไม่มีเหตุการณ์รับน้องที่โหดสัสแบบที่เคยได้ยินในข่าวแน่นอน (และก็ไม่มีการว้ากด้วย)
เกรด 2.5 กับบทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิต
คลังสรรพาวุธจากพี่รหัส (เยอะเป็นบ้า)
เรา expect ระดับนึงแล้วหล่ะว่าวิศวฯ จุฬาฯ เนี่ยขึ้นชื่อเรื่องความโหดของวิชาปี 1 โดยเฉพาะฟิสิกส์ 1 ที่จะทำเอาฟิสิกส์ม.ปลายเป็นเรื่องขี้ๆ ไปเลย ซึ่งเข้ามาเรียนก็…
ฟิสิกส์ม.ปลายแม่งเป็นเรื่องขี้ๆ ไปเลยจริงๆ
จริงๆ แล้วฟิสิกส์ 1 มันคือฟิสิกส์ม.ปลายที่ถูกตีความอีกแบบ โดยใช้แคลคูลัสครับ เช่น ไอ้สูตร v = u + at หรือญาติๆ ทั้ง 5 สูตรที่เราเรียนมาตอนม.ปลาย ก็จะตีความด้วยแคลคูลัสแทน ซึ่งก็มีประเด็นตลกอีกที่ แคลคูลัสที่เรียนในแคลคูลัสเนี่ย ยังแบบนั่งเรียนหาลิมิตสบายๆ อยู่เลย ในฟิสิกส์ซัดอินทิเกรตถั่วงอกกันตั้งแต่คาบแรก แบบช็อคโคตร นี่คาบแรกตูต้องโดนอินทิเกรตแล้วเหรอ นึกว่าจะแจก syllabus แล้วกลับบ้านเลิกคลาสไรงี้
แต่คืออย่างเราเองฟิสิกส์ถือว่ายังไม่ลำบากมาก เมื่อเทียบกับวิชาอื่น เช่น เคมี ซึ่งม.ปลายนี่ไม่เซียนเคมีเลย เพราะเรียนก็ไม่เรียน (ไม่เรียนจริงๆ อ.อุ๊ ก็เรียนแค่คอร์สแรก 55) มาปี 1 แล้วช็อคเลย แบบโอ้วก็อด
และหนักสุดก็ดรออิ่งนี่แหละ คือแบบ ปกติก็วาดรูปกากแล้ว เสือกมองภาพไม่ค่อยออกอีก คือมองแล้วเจือกไม่ตรงกับชาวบ้าน โคตรเละเทะ
สุดท้ายก็ได้เกรดจบเทอมที่ 2.5 ครับ
จังหวะที่เห็นเกรดเทอมแรกในชีวิตมหาลัยนั้น คำพูดที่เคยคุยกับที่บ้านได้มันพรั่งพรูเข้ามาเต็มเลย
จะเอาเกียรตินิยมมาให้ได้นะ — เบนซ์ได้กล่าวไว้ก่อนเข้าปี 1
ผมนี่เลยเอาเกรดไปสารภาพกับที่บ้านเลย บอกป๊าม๊า เทอมเนี่ยได้ 2.5 เกรดไม่ค่อยดีเลย
สุดท้ายป๊าม๊าบอกว่า “เรียนให้จบก็พอแล้ว” สิ่งสำคัญคือ “ขอแค่ออกไปทำงานได้ก็พอแล้ว”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังไม่ทิ้งเป้าที่อยากจะเอาเกียรตินิยมไปให้ป๊าม๊านะ เพียงแต่ว่าเราจะไม่คิดถึงมันอีก (ประมาณว่า ได้ไม่ได้ช่างมัน do my best ไว้ก่อน)
หลังจากเกรดเป็นยังงั้นแล้ว ผมก็กลับมานั่งทบทวนใหม่ ดูว่าเอ้ยเราพลาดอะไรไป มีอะไรที่เราจะแก้ในเทอมหน้าได้บ้าง จนพบว่าประเด็นมันอยู่ที่วิธีการอ่านหนังสือ นี่แหละ
คือที่วิศวฯ จุฬาฯ หลายคนอาจจะได้ยิน cycle “1 เดือนเล่น 1 เดือนเรียน” เดือนแรกเราจะมีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำ เช่น รับน้อง, เตรียมค่าย, มีทบ้านรับน้อง ฯลฯ แต่พอขึ้นเดือนถัดมา มันจะเป็นเดือนที่ใกล้สอบมิดเทอม ก็จะเตรียมอ่านสอบกันหนักหน่วง และพอสอบเสร็จ ก็จะอุดมไปด้วยสาระพัดทริปที่จะไปเที่ยวกันขำๆ แล้วเดือนต่อมาก็เป็นเดือนสอบไฟนอล ก็หัวร้อนอ่านหนังสือกันไป นี่แหละคือ cycle 1 เดือนเล่น 1 เดือนเรียน
ซึ่งจริงๆ ผมก็ทำตาม model นี้เลยนะ คือเดือนเล่น ก็ทำแต่กิจกรรม ทำเท่าที่จะทำได้ ตอนนั้นก็มีลง FE Camp นี่แหละหลักๆ เลย ซึ่งเป็นเฟสเตรียมงานค่าย (อยู่วิชาการ ก็มีสอบสอน ทดลองสอน ทำหนังสือค่าย) พอเดือนสอบ ก็อ่านมันอย่างหนักเลย (แต่ไม่เคยโต้รุ่งสักครั้ง และตอนปี 1 นี่ได้นอนสี่ทุ่มแทบทุกวัน นอนไวมาก)
ทีนี้ความผิดมันอยู่ที่ไอ้วิธีการอ่านที่เราอ่านนี่แหละ คือเราดันอ่านฟิสิกส์ซะเยอะไง เพราะเราอิน เลยอ่านแต่ฟิสิกส์ แล้วเคมีหล่ะ ก็เทไง ดรออิ่งล่ะ? บาย แคลนี่ไฟนอลทำโจทย์แค่ 2 วันด้วยซ้ำ (ยังเจ็บช้ำใจแคล 1 มาก มิดเทอมได้ 89/100 แต่สุดท้ายได้ B+ เพราะทำโจทย์แค่ 2 วัน)
เราเลยรู้และว่า
เราอ่านหนักวิชาเดียวเกินไป
ดันเทการอ่านทั้งหมดไปกับฟิสิกส์ ทิ้งวิชาอื่นๆ เฉย ทั้งๆ ที่หน่วยกิตมันก็เท่ากัน
ผมเลยปรับความคิดใหม่
พยายาม Balance ทุกวิชาให้เท่าๆ กัน
ผมก็เลยไปปรับในเทอมสอง จากที่อ่านเฉพาะบางวิชา ก็มาอ่านแบบกระจายแทน balance อ่านให้เท่าๆ กัน
คือถึงแม้จริงๆ ก็ยังมีความชัดเจนที่เราก็ยังคงอินกับฟิสิกส์อยู่บ้าง (ทั้งๆ ที่เพื่อนจะอ้วกแตกตายกันหมดแล้ว) แต่วิชาอื่นอย่างแมททีเรียลเราก็ลงมาทุ่มตัวอ่านเหมือนกัน ไม่เทกระจาดแบบเคมีในเทอมที่แล้ว
ตอนนั้นกว่าจะคิดอะไรแบบนี้ได้ นี่ก็อึนไปกับเกรดสักสองสามวันเลย แต่หลังจากนั้น mindset ผมเปลี่ยนไปเยอะพอสมควร
FE Camp 7: จุดเริ่มต้นของการสอนหนังสือ/จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ให้
ครั้งแรกในชีวิต ที่สอนหนังสือกับน้องในห้องกว่า 30 คน
ตอนเป็นเฟรชชี่ปี 1 ยังใสๆ เรามักจะมีบทบาทเป็นผู้รับซะมากกว่า เวลาไปกิจกรรมไหน เรามักจะเป็นผู้รับ พี่ๆ ก็จะทำอะไรที่ surprise เราได้ตลอดเวลา ทุ่มเทให้เราอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งค่ายแรกที่ได้ทำ คือค่าย FE Camp ครั้งที่ 7 เป็นครั้งแรกที่เราได้มีบทบาทเป็นผู้ให้กับน้องม.6 แทน
เกริ่นกันก่อนว่า FE Camp 7 คือค่ายติววิชาความถนัดทางวิศวกรรม PAT3 ให้กับน้องม.6 ที่กำลังจะสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ครับ (และแน่นอน ไม่จำเป็นต้องวิศวฯ จุฬาฯ จะอยากเข้าที่ไหนก็ได้ที่เป็นวิศวฯ)
โอเค เกริ่นเสร็จละ…ในค่ายผมอยู่ฝ่ายวิชาการครับ หน้าที่ในวันค่ายหลักๆ คือเป็นคนสอนครับ รับหน้าสอนวิชาสมบัติสาร พาร์ทของแก๊สครับ (เดี๋ยวนะ ภาคคอมสอนแก๊ส? แม่งต้องมีอะไรแปลกๆ แน่เลย)
และก็มีความ surprise ครับ…คือได้สอนคาบแรกของค่าย
คือถ้าว่าสอนครั้งแรกในชีวิต แม่งก็เกร็งแล้ว นึกภาพว่าต้องสอนในคลาสเรียนที่คนเรียน 40 กว่าคนเป็นครั้งแรก เกร็งไปใหญ่ แล้วสอนคาบแรกของค่ายด้วย โอ้ยแม่งเกร็งสัสๆ
ตอนนั้นก็ลนลานเอาเรื่องครับ และจุดพลาดสุดของคาบนั้นคือ ดันใช้สื่อการสอนผิดวิธี คือเราใช้วิธีฉายโปรเจคเตอร์เข้ากระดานไวท์บอร์ด แล้วกะจะเขียนบนกระดานไง เพื่อที่จะได้เห็นโจทย์ด้วย และจะได้เห็นแนวคิดเป็นขั้นตอนว่าจะตีโจทย์ยังไง ไอ้ตรงนี้หน่วยมันหลอกเรานะ ก็จะวงๆ ได้ชัด แต่ประเด็นคือ อีโปรเจคเตอร์คณะมันก็ไม่ได้ชัดขนาดนั้น
สุดท้ายตอนนั้นก็เฟลเรื่องนี้แหละ…และดันเป็นน้องห้องด้วยนะ (คือนอกจากจะเป็นฝ่ายวิชาการ เรายังแอบเนียนไปเป็นพี่ห้องด้วย ทั้งๆ ที่ชื่อไม่มีเป็นพี่ห้องนั้น แต่อาศัยเพื่อนเอา 55)
แล้วก็ไปสอนห้องต่อไป (วันแรกก็จัดสองคาบเลย) ทีนี้เปลี่ยนใหม่เลย ใช้ visualizer แทน ผลออกมาเออแม่งดีขึ้นเยอะเลยหว่ะ เพราะเราเริ่มจับ mood น้องได้แล้ว เริ่มคุมจังหวะการสอนได้ และสื่อการสอนก็โอเคขึ้น ผลเลยก็โอเคขึ้น
ตอนนั้นจำไม่ได้จริงๆ ว่ารวมๆ สอนไปกี่คาบ แต่ก็สอนเยอะอยู่ มีคาบนึงพีคอยู่คือไปช่วยเพื่อนสอนไฟฟ้าสถิต (หรือไฟฟ้ากระแสสลับนี่แหละ) ในห้องที่ตนเองเป็นพี่ห้อง เพราะชีทมันเรียงได้เลวเอาเรื่อง คือลำดับเนื้อหาปวดหัวมาก อ่านเข้าใจยาก เลยสอนแบบไล่เรียงใหม่เลย (ไม่ใช่งานตัวเองด้วยนะตอนนั้น แต่ก็อยากสอน ฟิตจัด)
ทุกวันนี้สำหรับเราเอง FE Camp 7 เป็นอะไรที่มอบประสบการณ์ให้เรามากจริงๆ ทั้งเรื่องการสอนหนังสือ เรื่องการดูแลน้อง บลาๆๆ อีกมากมาย เยอะแยะมากๆ
มีของที่ระทึกของห้องด้วยยยยย (ยังไม่ลืมน้องห้อง Hamilton นะ อยากเจอมั่กๆ)
พุ่งทยานไป 1 เกรด
สำหรับตัวเราเอง ถ้าบอกว่าปี 1 เทอม 1 คือการลงสนามซ้อมดูเชิง ตัวเราในปี 1 เทอม 2 นั้นจะเป็นการชักดาบ พร้อมสู้กันแบบเอาจริง และพร้อมกว่าเดิมมากๆ
จริงๆ ผมมองว่าปี 1 เทอม 1 มันคือเทอมแห่งการปรับตัว เพราะเราเปลี่ยนผ่านจากการเป็นเด็กมัธยมมาเป็นนิสิต มันมีอะไรต้องเรียนรู้เยอะ เพราะหลักๆ ที่มีเพิ่มมาจากม.ปลาย คืออิสรภาพ เราตัดสินใจที่จะไม่เข้าเรียนก็ได้ถ้าไม่มีเช็คชื่อ แต่ตอนสอบเราก็ต้องรอดให้ได้ งานก็ต้องมีส่งอะไรงี้ มันต่างจากม.ปลายมากๆ เวลามีปัญหาอะไรอาจารย์จะตามเรา แต่ตอนนี้จะไม่ค่อยมีแล้ว (จะมีบ้าง แต่ไม่ทุกเรื่องขนาดม.ปลาย บางอย่างเราก็ต้องรับผิดชอบเอง)
ซึ่งคีย์อยู่ตรงนี้แหละ
ใครปรับตัวไว คนนั้นรอด (Natural Selection โคตรๆ)
ถ้ามองจากตอนนี้ ผมเชื่อว่าตอนปี 1 เทอม 2 คือตอนที่ผมปรับตัวได้แล้ว ในเทอมนี้ช่วงที่ทำกิจกรรมกัน ผมก็ทำกิจกรรมเหมือนๆ เดิม ตอนที่อ่านสอบก็อ่านหนักเหมือนเดิม แต่ปรับวิธีใหม่ คึอผมไม่เทการอ่านไปให้สักวิชาแล้ว ผมพยายามจะอ่านกวาดๆ ให้แต่ละวิชาพอไปรอดก่อน แล้วมาอ่านลงลึกใหม่อีกทีในแต่ละอัน (และแน่นอน จะไม่เทไปจนกว่าไม่จำเป็นจริงๆ หรือไม่ไหวจริงๆ เจออย่างอื่นสำคัญกว่ามาก ก็ต้องเทไป)
และนอกจากนั้น ตอนนั้นผมยังมีอีกคตินึง ซึ่งใช้ได้ดีมากในช่วงอ่านหนังสือ
ไอ้บ้านี่คืออะไรวะ…ช่างแม่ง
เดี๋ยวๆ ต้อง clarify กันนิดว่า ตอนที่ … ผมก็จะพยายามทำความเข้าใจกับเนื้อหามันนานอยู่นะ ซึ่งถ้าพยายามแล้ว แล้วค้นพบว่า แม่งไม่ได้เข้าใจมากขึ้น หรือมันไม่ใช่ประเด็นหลัก ผมก็จะช่างแม่ง ลาก่อยไปก่อน (อารมณ์ประมาณว่า อย่าไปหลงอ่านส่วนที่เป็นน้ำเยอะๆ อะ ซึ่งในหนังสือสอบมันก็มีแบบนั้นเยอะอยู่แล้ว)
และเห็นปรับวิธีการอ่านแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะเครียดขึ้นนะ เครียดน้อยลงมาก ผมกลายเป็นคนที่ชิวๆ สบายๆ ไปเลย อ่านไปเรื่อยๆ ตอนสอบก็เอาเท่าที่ทำได้ (ผม expect เกรดตัวเองที่ minimum คือเอาต่ำๆ ก็ C ถ้าได้เยอะกว่านั้นก็โอเค อะไรแบบนี้)
สุดท้ายเกรดผมก็ขึ้นมาจาก GPA 2.5 เป็น GPA 3.5 ครับ และได้ GPAX 3.0 ไปในเทอมนั้น
มันเป็นหนึ่งใน prove of concept ว่าการปรับวิธีการคิด มันช่วยได้จริงๆ เช่น ตอนอ่านหนังสือจะไม่เอาความเครียด หรือความต้องกดดันว่ากูต้อง A เท่านั้น กูต้องไปถึงเกียรตินิยมเป็นตัวผลักดัน เพราะมันไม่ช่วยให้เราอ่านได้ดีขึ้น ผมเปลี่ยนจากอ่านถึกตอนท้าย มาค่อยๆ อ่านทีละนิดๆ เอาความสม่ำเสมอเข้าสู่แทน เพราะรู้สึกว่าอ่านอัดตอนท้ายไม่ค่อยเวิร์กแน่นอน และจะเหนื่อยมากๆ ด้วย
และผมพยายามนึกถึงเรื่อง balance ตลอด ดังนั้นเรื่องกิจกรรมก็จะไม่เทครับ ก็ยังทำกิจกรรม แต่เลือกทำเฉพาะที่อยากทำ ทำแล้วสนุก สบายใจ ทำแล้วไม่กดดันตัวเอง แต่พอถึงเวลาต้องสอบ ต้องอ่านหนังสือ ก็ต้องลุยครับ ก็จะต้องประกาศกร้าวให้ทุกคนรู้ว่า เออ กูขอไปอ่านหนังสือนะ ทุกคนก็เข้าใจกันได้ ทุกคนเขาก็จะไปอ่านหนังสือกัน
ซึ่งเรื่องที่ผมได้เกรดขึ้นมา 1 เกรดนี่ผมก็เอาไปเล่าเป็น Case Study ให้คนหลายคนฟังเยอะมากๆ (เล่าในค่าย FE ตอนหลังๆ บ่อยมากๆ เพราะน้องม.6 ชอบเจอประเด็นเรื่องคะแนนรอบแรกน้อย จนหมดกำลังใจสู้ต่อเยอะ) เผื่อหวังว่าคนที่รับฟังไปจะมีกำลังใจกลับมาฮึดสู้กันต่อได้
Next Episode
ตอนหน้าจะพูดถึงชีวิตเข้าภาคครั้งแรก, ทำรับน้องครั้งแรก ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเม้นที่ shape เราจนเป็นเราในวันนี้ (ง่อวววววววว)