เบนซ์นะจ๊ะในรั้ววิศวฯ จุฬาฯ — Episode 2: Now, I am CP40

เบนซ์นะจ๊ะในรั้ววิศวฯ จุฬาฯ — Episode 2: Now, I am CP40

ใครยังไม่ได้อ่าน Episode 1 ตามไปอ่านได้เลยยยยย

ตอนที่แล้วจบที่ชีวิตตอนอยู่ปี 1 พอดี วันนี้ก็มาต่อกันกับชีวิตปี 2 ครับ ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้ก้าวเข้าสู่ภาคคอม และเป็น CP40 อย่างเต็มตัวแล้ว

แต่อ๊ะๆๆ ยังไม่เล่าเรื่องก่อนขึ้นปี 2 เลย

ติดจุฬาฯ มาบ้านโจ๋

ที่จุฬาฯ นั้นนอกจากแต่ละคณะจะมีกิจกรรมรับน้องเป็นของตัวเองแล้ว ส่วนกลางก็มีจัดกิจกรรมรับน้องรวมเหมือนกันครับ โดยจะเรียกว่า งานรับน้องก้าวใหม่ ซึ่งจะมีการแบ่งการรับน้องออกเป็นบ้านๆ โดยที่น้องจะเป็นคนเลือกบ้านเอง (เลือกได้ 3 อันดับ) แล้วระบบก็จะจัดและประกาศผลบ้านได้ ซึ่งบ้านรับน้องก็มีเยอะมาก และแม่งก็เป็นคำถามสุดปวดหัวในตอนปี 1 ว่า “กูจะเข้าบ้านอะไรวะ”

ตอนนั้นก่อนจะขึ้นปี 1 ก็มีโอกาสกลับโรงเรียน และก็ได้เจอพี่ศิษย์เก่าโรงเรียนที่ตอนนี้เรียนอยู่จุฬาฯ และเรียนจบจากจุฬาฯ ไปแล้วด้วย ก็เลยถามพี่ว่าเข้าบ้านรับน้องบ้านอะไรดี พี่เขาก็ชวนเราเข้าบ้านโจ๋ (ซึ่งคนชวนเนี่ย ก็เป็นพ่อบ้านบ้านโจ๋มาก่อน 5555)

สุดท้ายก็เลือกบ้านโจ๋ไป แล้วก็ติด

จริงๆ ตอนปี 1 วันรับน้องก็อยู่ไม่ครบ 3 วันนะ แถมจุดพีคๆ ของงานทั้งสองวันก็ไม่ได้อยู่ด้วย ก็เลยอาจจะไม่ได้รู้สึกติดบ้านโจ๋ขนาดนั้น เพื่อนๆ ในบ้านก็รู้จักบ้างบางคน ตอนมีมีทก็มีไปแค่มีทครั้งแรก ทริปบ้านแรกก็ไม่ได้ไป

จนเรื่องมันอยู่ที่ว่า มีการเลือกพ่อบ้านกันในวันเกิดบ้าน (ซึ่งก็ไม่ได้ไปอีก) พอเลือกพ่อบ้านได้แล้ว พี่ๆ ก็ให้เราจัดทริปแต้งพี่ เป็นเหมือนแบบทดสอบที่น้องปี 1 ที่จะขึ้นปี 2 เนี่ยได้ทำงานร่วมกันครั้งแรก ก่อนไปเจองานทำบ้านรับน้องจริงๆ ซึ่งตอนนั้นเพื่อนก็ชวนเราไปทำบ้าน ไปจัดทริปแต้งพี่ เราก็เออ ปิดเทอมก็ว่าง ก็อยากทำกิจกรรม ก็เลยตัดสินใจไปทริปแต้งพี่

ซึ่งมาตอนนี้ก็กล้าบอกได้เลยว่า การไปทริปบ้านครั้งนั้น คือจุดเริ่มต้นของประสบการณ์ที่นับได้ว่าเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีที่สุดในรั้วจุฬาฯ เลยแหละ

หลังจากนั้นก็เริ่มมีการคุยงานกันละ เริ่มแพลนว่าเราต้องทำอะไรบ้าง วางธีมหลัก วางกิจกรรม วาง plan ซ้อมสัน ซ้อมกลอง ซึ่งเราก็ลงไปเป็นมือกลอง ซึ่งทั้งชีวิตนี้บอกเลยว่าแทบไม่เล่นเครื่องดนตรี นอกจากตอนเรียนวิชาดนตรีเนี่ยแหละ ก็ซ้อมอย่างหนักมาก มือก็แหกแบบเจ็บชิบหาย เหนื่อยก็เหนื่อย ปวดแขนอีก แต่บอกเลยว่าโคตรมันส์มากๆ

สมัยตีกลองแป้กสรึสๆ ตีแป้กจนเงิบไปกับเพื่อนๆ orz

ถามว่าตอนเตรียมงานเหนื่อยไหม

เหนื่อย(สรึส)

มันมีอะไรให้ทำเยอะมากๆ อะ แถมแบบมีแรงกดดันจากพี่ๆ บ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วที่พี่อาจจะกดดันบ้างเพราะกลัวเราทำออกมาแล้วงานมันพังจริงๆ ซึ่งถ้างานพังมันก็เหมือนที่ทำมาทั้งหมดมันสูญเปล่าอะ ใครๆ ก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นหรอกที่ว่าจู่ๆ น้องบ้านก็หายไปหมดเลยในวันรับน้องวันที่สอง กลายเป็นว่านอกจากเหนื่อยแล้ว ยังมีความเครียดเป็นของแถมอีก ยิ่งคนที่เป็นแกนหลักยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่ (คือสัมผัสได้เลย ณ ตอนนั้น ว่าเพื่อนๆ ที่เป็นแกนหลักแม่งเครียดมาก)

จนกระทั่งวันจริงมาถึง มันคือวันที่งานทุกอย่างที่เตรียมมากันร่วมสองสามเดือนจะถูกตัดสินว่า มันจะได้แสดงออกมาให้น้องๆ ได้รับหรือไม่ ถ้าวันแรกทำไม่ดี วันที่สองน้องก็ไม่มา บ้านก็ล่มแน่นอน งานที่ทำมาอย่างเหนื่อยยากก็เปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิง

ซึ่ง ถ้าให้ถามว่าใน 3 วันนั้นเหนื่อยไหม

เหนื่อย(สรึสยกกำลังสอง)

แต่

แม่งมีความสุขหว่ะ

ใน 3 วันเรารู้สัจธรรมอย่างนึงว่า สิ่งที่เราเตรียมตัวมาอย่างหนักหน่วงโคตรๆ ซ้อมกลองกันมือแหกไปข้าง เต้นสันกันเหงื่อตกไปหลายลิตร รัน(แถมแก้)แพลนกันเป็นสิบๆ รอบ นั้นเราไม่ได้ทำเพื่อใครเลย เราทำเพื่อให้น้องๆ ที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนด้วยซ้ำ ให้น้องได้สัมผัส first impression ที่ประทับใจโคตรๆ ของการเป็นนิสิตใหม่แห่งรั้วจุฬาฯ

ตลอด 3 วันที่ทำบ้านนั้น ทำให้เราเลยรู้เหตุผลเลยว่า ทำไมตอนเราอยู่ปี 1 เราเต้นสันเล่นกิจกรรมเหนื่อยแทบตาย แต่พี่ๆ ก็ยังเข้ามาพัดให้น้องๆ เข้ามาแจกน้ำแจกขนมให้น้องๆ กิน พี่แม่งไม่ใช่มนุษย์หรือไงวะ

พี่ก็เป็นมนุษย์แหละครับ แน่นอนก็เหนื่อยครับ (เหนื่อยสรึสๆ ด้วย) แต่สิ่งที่พี่ทำไป มันมีอยู่แค่คำๆ เดียวครับ มันคือคำว่า “เพื่อน้อง” แค่คำนี้จริงๆ

เลยบอกว่า

แม้จะเหนื่อยเหี้ยๆ แต่แม่งโคตรมีความสุข

เห็นน้องๆ สนุก พี่ๆ ก็ดีใจละ

ดังนั้นทำให้ที่จุฬาฯ เนี่ย ไม่มีหรอกครับ ไอ้พี่รับน้องโหดเนี่ยไม่มีแน่นอน โดยเฉพาะรับน้องบ้านโจ๋เนี่ย ไม่มีแน่นอน ทำให้กันตั้งขนาดนั้นแล้ว จะไปรับน้องโหดได้ตอนไหนวะ 55555

ซึ่งพอขึ้นมาปี 3 ขึ้นไป แม้ไม่ได้เป็นคนทำหลักๆ เหมือนตอนปี 2 แล้ว แต่ก็ยังกลับไปสัมผัสบรรยากาศแบบนี้อีกครั้งทุกปี (มันเหมือนรำลึกอดีตเหมือนกัน ตอนที่กลับไปดูกิจกรรมบ้านรับน้อง แฟลชแบล็คก็มาจริงๆ)

ไอ้พวกภาคคอม

จบงานรับน้องไป ก็มาที่ชีวิตในภาคคอมครั้งแรก พอถึงปี 2 แล้วต่างคนต่างก็แยกย้ายกันเรียนในภาควิชาที่ตนเลือกไป ส่วนผมก็แน่นอนครับ เข้ามาเป็นคอมตรง ก็เข้าสู่ภาคคอมเต็มตัวแล้ว

ชีวิตเทอมแรกของภาคคอม คือถ้าจะหาคำพูดมาอธิบายสั้นๆ ก็คงจะเป็นคำว่า

ล้างสมอง

วอท…อะไรคือล้างสมอง

หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องที่ว่า เด็กภาคคอมแม่งพูดแต่ 0 กับ 1 ใช่ไหมครับ? เออมันก็ “เกือบ” เป็นยังงั้นกันค่อนภาคละตอนเรียนเทอมแรก

เพราะด้วยวิชาเรียนนี่แหละ เปิดฉากมาก็เจอวงจร Digital Logic เลยครับ คือชีวิตแม่งมีแค่ 0 กับ 1 จริงๆ ทุกอย่างที่คอมพิวเตอร์ทำงานมันอยู่บนเลขฐานสองทั้งหมด ดังนั้นถ้าเราจะเข้าใจว่าคอมพิวเตอร์ทำงานยังไง เราก็ต้องรู้ว่ามันคิดยังไงนี่แหละ กลายเป็นเราโดนล้างสมอง เปลี่ยนกรอบวิธีการคิดเดิมๆ กลายเป็นมานั่งคิดในระดับนั้นอะ (ยิ่งตอนสอบไม่ต้องพูด ยืนรอหน้าห้องสอบนั่งคุยกันแบบ 00110011 จริงๆ ให้ตายสิพับผ่า ตอนนั้นเป็นไอ้เอ๋อคนนึงได้เลยอะ 5555)

ซึ่งถ้าตัดประเด็นว่าโดนล้างสมองออกไปนี่ ถือว่าเป็นวิชาที่เรียนแล้วทึ่งมากๆ นะ ใครจะไปคิดว่าด้วยพลังแห่งเลขฐานสองแม่งจะทำให้คอมฯ​ สามารถทำนู้นนี่นั่น เอามาเก็บข้อมูล เอามันมาบวกลบคูณหารได้ เรื่องนี้ผมถือว่าว้าวพอตัวตอนเรียนใหม่ๆ (ตอนนี้เริ่มจะหลงๆ ลืมๆ ไปละ…แล้วก็เฉยๆ ไปในที่สุด…)

เทอมแรกมาก็เขียนเกมได้อะ…

ไม่มีอะไรมาก ก็ได้เกมมาเล่นขำๆ เกมนึง

วิชาเด็ดดวงสุดเทอมแรกผมนี่ยกให้ Prog Meth เลยครับ…ถามว่าทำไมมันเด็ดดวง คือมาสัปดาห์แรกๆ เราก็เรียนเลคเชอร์แบบชิวๆ ไปใช่ไหมครับ…พอเจอการบ้านเท่านั้นแหละ แม่งเอ้ย วดฟ. ห่านอะไรวะเนี่ย

ตอนนั้นนี่แอบท้อมากๆ นะ คือแบบเราก็เข้าภาคมา ก็เคยเขียนโค้ดมาบ้าง แต่แบบพอเจอการบ้าน Prog Meth ไป แล้วก็แบบ ทำไม่ได้อะ อะไรวะเนี่ย ลงเอยด้วยการไปนั่งดูโค้ดเพื่อน แล้วก็พยายามทำความเข้าใจ (แล้วแม่งก็ไม่เข้าใจ) จนแบบเริ่มคิดลึกๆ ละว่ากูจะอยู่กับภาคนี้ได้ไหมวะ นี่แค่เริ่มต้นยัง GGWP ขนาดนี้

พอสอบมิดเทอมยิ่งแล้วใหญ่ ออกจากห้องสอบเสร็จ ผมลั่นวาจาไว้ว่า

“ชาตินี้กูจะไม่เล่น Minesweepers”

ข้อสอบมิดเทอมคือแก้โค้ดที่เป็นเกม Minesweepers ที่เป็นกฎพิเศษของข้อสอบครับ แต่ว่าแม่งยากมากๆ ตอนสอบก็แบบทำๆ แล้วรัน Unit Test ถ้าทำถูกมันจะขึ้นเขียว…ของผมก็ แดงครับ (#นึกถึงเสียงแอ๊ดดดดด เพื่อเพิ่มอรรถรส) ผมก็เริ่มเครียดละ แล้วก็หันขึ้นมามองดูสภาพเพื่อนๆ โอ้โห แดงทั้งห้อง 55555555555 เลยเครียดน้อยลงไปเยอะ (อารมณ์ว่า เออแม่งยากจริง ไม่ได้คิดไปเอง)

สุดท้ายคะแนนออกมา…ก็เละเทะครับ เน่ามากๆ 55555 แต่ด้วยความที่มันตัดคะแนนอิงเกณฑ์ ก็เลยสู้ต่อไปครับ

เรื่องเริ่มมาพีคอีกทีก็ตอนทำโปรเจคครับ คือก็เคยได้ยินจากพี่ๆ แล้วแหละ ว่าโปรเจควิชานี้ส่วนมากก็ทำเกมกัน ผมก็คิด เฮ้ยเพิ่งเข้าภาคมาเทอมแรกเนี่ยนะจะทำเกมได้

สุดท้าย ด้วยพลังแห่ง “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่ถ้าอาจารย์อยากได้กรุงโรมพรุ่งนี้ ก็ต้องเสร็จ”

ก็ทำเสร็จออกมาจนได้ครับ 555555

ตอนนั้นก็รู้สึกฟินเบาๆ เพราะแม้ว่าการบ้านเราอาจจะทำไม่ได้ก็จริง แต่ฟีลลิ่งโค้ดตอนทำโปรเจคมันก็ฟินๆ ดี ไม่เครียดเท่าตอนทำการบ้าน ก็เลยเริ่มรู้สึกว่า เออฉันก็คงจะเรียนภาคนี้ได้แหละ

FE Camp 8: เปลี่ยนจากมดงาน เป็นแพลนงาน

สัจธรรมเรื่องการทำค่ายที่คณะนี้(หรืออาจจะที่อื่นด้วย) มีอย่างนึงครับ…คือปี 1 เราจะเหมือนเป็น “มดงาน” ซะมากกว่า เออพี่สั่งมากูก็ทำ มีคาบสอนก็ไปสอน แต่พอมาปี 2 เราจะเริ่มเปลี่ยน role ละ และอย่าง FECamp เองก็เช่นกัน ปี 2 เราจะเริ่มมาทำฝ่ายที่เรารับผิดชอบแบบจริงๆ จังๆ แล้วเปลี่ยนสภาพจากเป็นมดงานมาเป็น Manager แทน

ถ้าพูดกันง่ายๆ ปี 2 เป็น Core Team ที่ทำให้ค่ายมันดำเนินไปได้ครับ ทั้งตั้งแต่ก่อนเริ่มค่าย ไปจนถึงวันค่าย

อย่างเราเองก็อยู่ฝ่ายวิชาการ ดังนั้นก็จะโฟกัสหลักๆ ไปที่เรื่องการเรียนการสอนในค่าย อย่างถ้าเดิมตอนปี 1 เวลาเราทำหนังสือค่าย เราก็จะมี requirement ประมาณว่า “เรื่องนี้ขอ 7 หน้า มีเนื้อหา+โจทย์” แต่พอมาปี 2 ไอ้การที่จะได้ requirement นี้ขึ้นมาเนี่ย มันก็ต้องมาจากการคุยกันก่อน ว่าหนังสือทั้งหมดเราจะมีกี่หน้า แล้วบทนี้ได้สอนกี่ชั่วโมง ดังนั้นจะต้องมีบทนี้เท่านี้หน้า และนอกจากเราจะแจกงานให้น้อง พอน้องส่งงานมา เราก็ต้องมานั่งตรวจกันอีก พิมพ์ตกไหม ฟอร์แมตถูกป่าว เนื้อหาแม่นไหม เกินกว่าม.6 ที่ต้องรู้หรือเปล่า

เรื่องตารางสอนเหมือนกัน เราก็ต้องนั่งจัดตารางสอน ใครจะสอนคาบไหน บลาๆๆๆ

ซึ่งความ challenge ของงานก็จะหลากหลาย และยากต่างกัน เพราะพอปี 2 เราไม่ได้แค่ต้องดีลงานกับน้องปี 1 เรายังต้องดีลงานกับฝ่ายอื่นๆ รวมถึงเรื่อง manage เวลาสาระพัดอีก

วันค่ายนี่ยิ่ง epic ใหญ่ คือพอจบวันปุ๊ป อย่างสมัยปี 1 เราก็เป็นพี่ห้อง เราก็ไปนั่งคุยกับเพื่อนว่าพน. จะจัดกิจกรรม จะหาอะไรเล่นให้น้องดี พอมาปี 2 เราก็ประจำฝ่ายวิชาการ ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นนั่งคุยปัญหาที่เกี่ยวกับฝ่ายในวันนี้แทน แล้วหาแนวทางแก้ไข ซึ่งบอกกันตรงๆ ว่าแม้หลายเรื่องเราจะเคยได้ยินมาแล้ว และคิดว่าคงแก้ได้ ปัญหาคงไม่เกิดหรอก ถึงเวลาปุ๊ปแม่งก็มาได้อยู่เรื่อยๆ นั่นแหละ ทั้งคนสอนมาสาย สอนเลต (ขั้นหนักสุดคือสอนไม่รู้เรื่องก็มี) หมึกเติมไวท์บอร์ดหมด บลาๆๆ เราก็มานั่งคุยหาวิถีทางแก้กันไป ซึ่งวันแรกปัญหาจะเยอะสุด แถมพอไปนั่งคุยรวมกับเพื่อนๆ ฝ่ายอื่นยิ่งเห็นเลยว่าปัญหาแม่งเยอะจริงๆ

cycle วันค่ายนี่ก็คือ ตื่นเช้าไปค่าย มีคาบสอนก็ไปสอน หมดคาบสอนก็นั่งสถิตอยู่ห้องฝ่าย คอยเฝ้าสังเกตการณ์นู้นนี่นั่น (เหมือนจะว่าง แต่ตูดก็ไม่เคยติดกับเก้าอี้นานเกิน 10 นาทีสักทีเว้นตอนกินข้าว) พอน้องกลับบ้านแล้วก็นั่งประชุมสรุปรายวัน จบที่ไปกินข้าวสองทุ่ม กลับบ้านนอน วนแบบเนี้ย 5 วันเต็มๆ

เป็นงานที่เหนื่อยสัสอีกงาน เหนื่อยคนละสไตล์กับตอนทำรับน้อง แต่ได้ประสบการณ์อะไรไปเยอะมากๆ ได้เห็นว่าปัญหาหลายอย่างที่เคยเห็นตอนปี 1 จริงๆ แล้วมันเกิดจากอะไรกันแน่ ได้รู้จักการ manage งานบ้างเล็กๆ น้อยๆ

และก็ได้ไปสอนอีกปีครับ (งานนี้ไม่พลาด 555)

Next Episode

ตอนหน้าจะพูดถึง DocCare หนึ่งในโปรเจคเหตุการณ์ที่ทำให้เรา geek มากขึ้นและโค้ดเป็น โค้ดได้จนถึงทุกวันนี้ รวมถึงตอนฝึกงาน ที่้เหมือนกับเปิดโลกการทำงานไปอีกขั้น

Made with ❤️ since 2016