Graduation is just the beginning

Graduation is just the beginning

เทศกาลรับปริญญาวนกลับมาอีกแล้ว ก็ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตในปีนี้ทุกคนมากๆ นะครับ

ไหนๆ ก็ไหนๆ ละ ก็เอาบล็อกนี้ไปเป็นของขวัญงานรับปริญญาแทนละกันนะบัณฑิต 5555

เพราะเราจะบอกว่า

การเรียนจบ…มันเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น

จะทำงานหรือเรียนต่อดี

เชื่อว่าคงเป็นคำถามยอดฮิต และหลายคนคงมีคำตอบในใจแล้ว รวมถึงตัดสินใจไปแล้วด้วย ซึ่งเอาจริงๆ คำถามนี้ตอบง่ายยากก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน

อย่างเราเองตอนถามคำถามนี้กับตัวเอง แทบจะตอบได้แบบทันทีเลยว่าทำงาน เพราะรู้สึกว่าไม่อยากเรียนอีกแล้ว (เรียนมาทั้งชีวิตละ พอ 5555) อีกอย่างคือทำงานได้เงินเดือน พอหาเลี้ยงช่วยเหลือที่บ้านได้ด้วย ก็เลยตัดสินใจว่าจะทำงาน

ส่วนคนที่จะเรียนต่อ อาจจะมีคำถามต่อว่าจะเรียนต่อสาขาไหนดี จะต่อสาขาตรงที่จบมา หรือต่อสาขาประยุกต์อื่นๆ อันนี้ก็ต้องถามตัวเองว่าเราคิดว่าเรา “อิน” กับเรื่องไหนมากกว่ากัน ถ้ายังอินกับสาขาเดิมอยู่ การเรียนต่อสาขาเดิมก็จะดี ถ้าเราไม่ได้รู้สึกอินกับสาขาที่เราเรียนอยู่ ก็อาจจะเลือกที่จะเรียนต่อทางอื่นแทน

จริงๆ บางคนก็ได้ offer จำพวกว่า เรียนต่อโทอีกปีนึงจบ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจดี เพราะในความรู้สึกเราเองคิดว่าเรียนต่ออีกปีนึงถือว่าไวกว่าเรียนต่ออีก 2 ปีจบมากๆ หรือบางคนอาจได้เรื่องทุน ก็จะช่วยตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

##เลือกงานให้ดี คิดให้เยอะ สำหรับคนที่ยังว่างงานกำลังหางานอยู่ อยากจะบอกว่าจะเลือกงาน เลือกให้ดี และคิดให้เยอะๆ

หลังจากลองๆ คิดๆ ดูแล้ว ปัจจัยที่จะเลือกงานนั้นก็น่าจะมีประมาณนี้

  • ชื่อเสียงเรียงนาม: แน่นอนว่ายิ่งมีชื่อ ก็ยิ่งเป็นบริษัทน่าทำอยู่แล้ว
  • ขนาดของบริษัท: หลายคนอาจจะมองข้ามประเด็นนี้ไป แต่จริงๆ แล้วมันส่งผลมากๆ บ.เล็กๆ ก็จะได้ทำอะไรเยอะมาก (เพราะคนน้อย) ส่วนบ.ใหญ่ๆ ก็จะดีที่เราจะได้เห็นการทำงานเป็นระบบ มีขั้นตอนชัดเจน ซึ่งก็ต้องลองถามตัวเองว่าอยากทำงานแบบไหน ถ้าอยากพัฒนาสกิลเยอะๆ การทำบ.เล็กๆ ก็จะมีโอกาสเยอะ เพราะมักจะได้ทำอะไรด้วยตัวเอง และทำหลายอย่าง แต่ถ้าอยากจะมองภาพกว้างๆ มีอะไรเป็นระบบ การทำบ.ใหญ่ๆ ก็จะเหมาะกว่า
  • เงินเดือน: แน่นอน…5555 แต่ให้คิดเสมอว่า “เงินเดือนยิ่งเยอะ = ความรับผิดชอบที่มากขึ้น” ไม่มีใครจ้างเราด้วยเงินหลักแสนให้มานั่งโง่ๆ ที่ออฟฟิศหรอกครับ
  • สวัสดิการ: อันนี้ก็สำคัญ บางที่เงินเดือนอาจจะไม่เยอะมาก แต่สวัสดิการดีมากๆ ก็จะช่วยเราไปได้เยอะ
  • Working Hour: เดี๋ยวนี้บริษัทหลายๆ แห่งเวลาทำงานจะเป็น flexible hour คือค่อนข้างยืดหยุ่น มาสายหน่อยได้ แต่ดูกันที่ผลงาน (แต่ก็ต้องเคารพเพื่อนร่วมงานด้วยนะ) แต่ก็ยังมีหลายๆ ที่ที่ยังเป็นตอกบัตรเข้าออกให้เป๊ะเหมือนเดิม อันนี้ก็อยู่ที่ว่าเราจะโอเคแบบไหน (แต่สายขาเดฟ ก็คงจะชอบ flexible hour มากกว่า 555)
  • Culture ในการทำงาน: อันนี้ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าจริงๆ แล้วเด็กสมัยนี้ไม่ได้มองหาแค่งานที่เงินเดือนเยอะๆ อย่างเดียว แต่มองหา culture วิถีการทำงานที่เหมาะกับตัวเราด้วย ซึ่งอันนี้จริงๆ เป็นปัจจัยที่กว่าจะไปรู้อีกทีก็ตอนเข้าไปทำงานแล้ว อันนี้ถ้าอยากรู้อาจจะต้องอาศัยช่องทางอื่นเช่น ถามพี่ๆ หรือเพื่อนที่เคยทำงาน/ฝึกงานที่นี่แทน (แต่หลายๆ ที่ก็เริ่มเอา culture การทำงานของตัวเองมาขายแล้วเหมือนกันนะ)
  • ที่ตั้งออฟฟิศ + การเดินทาง: อันนี้จริงๆ แล้วก็สำคัญไม่แพ้กัน บางบริษัทตอบโจทย์เรามาก แต่ดันไปตายเรื่องการเดินทางที่ไกลแสนไกลแทน อันนี้ต้องลองชั่งน้ำหนักดูว่าเราโอเคกับการเดินทางหรือไม่ (แต่ถ้าให้บอกตรงๆ ว่าการเดินทางทำงานไปกลับที่เสียเวลาไปรวมๆ กว่า 2–3 ชั่วโมงนี่เสียเวลาชีวิตไปเยอะมากๆ เลยนะ)
  • คน (หรือทีม): เอาจริงๆ อันนี้เป็นอีกปัจจัยที่หลายคนไม่รู้ตัวว่าเอาเรื่องนี้มาตัดสินใจในการหางาน…ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดก็พี่เองนี่แหละ 5555 ตอนนั้นที่สมัครที่ TakeMeTour ส่วนนึงที่อยากได้ที่นี่ ก็เพราะว่าเห็นพี่ปันเจ (GDE Web Technology แค่ตำแหน่งนี้ก็การันตีความเก่ง — ขอพาดพิงนะพี่ 555555) เป็น​ CTO อยู่ในตอนนั้น เรามีความคิดประมาณว่า “หากเราได้ทำงานกับคนเก่ง เราก็จะอยากเก่งตามเขา” ซึ่งเอาจริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องจริงนะครับ หากน้องมี mindset ที่อยากเก่งอยู่แล้ว การทำงานร่วมกับคนเก่งๆ ก็จะยิ่งสร้างพลังให้เราเองถีบตัวเองให้เก่งขึ้นไปอีกหลายขุม

แต่จริงๆ อาจจะมีเยอะกว่านี้ และก็อาจจะเจอเหตุการณ์เช่น “ตัดสินใจยาก” ลองใช้เวลาคิดไปกับมันดูสักพัก

Discuss กันแบบ “ปัญญาชน”

เชื่อว่าหลายคนคงจะไฟแรง เวลาทำงานช่วงแรกๆ บางทีเรามักมีการตั้งคำถามกับงานที่เราทำ ประมาณว่า

“เอ๊ะ ทำไมทำยังงี้หว่า” “แบบนี้มันไม่ดีกว่าเหรอพี่”

เอาจริงๆ ถ้าเรามีเรื่องสงสัยอะไรประมาณนี้ ก็เป็นเรื่องดีนะ แต่สิ่งที่เราควรทำหลังจากนั้น คือการ “เอาเรื่องนี้มา discuss กันอย่างปัญญาชน” แปลไทยเป็นไทยก็คือ “การพูดคุยกันแบบไม่ bias ใช้เหตุและผลสู้กัน”

บางทีเราอาจจะพบว่า เราอาจจะมองตื้นไปก็ได้ จริงๆ แล้วที่ต้องทำแบบนี้เพราะอะไรก็ว่าไป แต่บางครั้งเราก็อาจจะเจออีกแบบ คือกลายเป็นว่าไอเดียเราเข้าท่า ก็ว่ากันไป

ที่พูดยังงี้เพราะจริงๆ แล้วมีหลายเรื่องพอตัวที่ตอนเข้ามาแล้วก็สงสัย เออ ทำไมพี่เขาทำยังงี้หว่า ก็เลยเอาไปบอกพี่หัวหน้าแล้วก็คุยกัน จนสุดท้ายก็หาทางที่จะทำให้มันดีขึ้นต่อไป (ซึ่งบางครั้งพี่เขาก็ยอมรับว่า…เออว่ะ ทำไมกูไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้หว่า)

แต่ในหลายๆ ครั้ง บางเรื่องเราก็ discuss กันจนปวดหัว และก็ไม่จบสิ้น บางทีก็ discuss กันจนปวดหัวและหัวเริ่มร้อนกันก็มี แต่อย่างที่บอกว่าเราควรคุยกันแบบคนเป็น “ปัญญาชน” เมื่อ discuss จบก็ถือว่าจบ ไม่มีการเอามาให้ขัดใจกันในอนาคต

อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง

เรื่องนี้ค่อนข้างจะ obvious สำหรับสาย technology เพราะเทคมันโตไวมากๆ ดังนั้นเราก็ต้องพยายามเดินตามให้ทัน (จริงๆ ใช้คำว่าวิ่งคงจะเหมาะกว่า)

และจริงๆ ก็คงไม่ใช่แค่สายเทค จริงๆ สายอื่นๆ ก็ไม่แพ้กัน ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้เติบโตตามงานที่ทำอยู่ตลอด

นอกจากนั้นแล้ว ไม่ใช่แค่เราจะพัฒนาความเก่งในด้านที่เราชำนาญอยู่แล้ว จริงๆ แล้วเราควรพัฒนาความเก่งในด้านอื่นๆ ที่เป็น soft-skill ด้วย เช่นการสื่อสารกับคนอื่น ทั้งในทีม และนอกทีม นอกแผนก / การทำ presentation และอื่นๆ ซึ่งพวกนี้ถ้าถามว่าหัดยังไง พี่คิดว่าต่างคนต่างก็มีวิธีในการหัดเป็นของตัวเองครับ ต้องลองหาดู เช่น ถ้ามีจังหวะที่ต้องทำ present ก็เอาโอกาสนั้นในการฝึกสกิลการทำ presentation ไปเลย หรือถ้าต้องมีเหตุที่ให้พูดคุยกับฝรั่งชาวต่างชาติ ก็เอาเหตุนั้นเป็นตัวช่วยให้สกิลด้านภาษาเราพัฒนาขึ้น

หาสปีดของตัวเองให้เจอ

เราอาจจะเห็นหลายคนทำงานและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วสายฟ้าแล่บมาก…เหมือนเขาวิ่งด้วยความเร็วระดับยูเซน โบลต์ แต่เราดันเป็นแค่เต่าน้อยตัวนึง

พี่กำลังจะบอกว่า สิ่งสำคัญสุดคือ “เราต้องหาสปีดของเราเองให้เจอ” เราไม่จำเป็นต้องเร็วเท่ายูเซน โบลต์ หรอกครับ เขาวิ่งไวขนาดไหนก็ปล่อยเขาไป เราสนใจแค่ว่าในสปีดของเราตอนนี้ เรายังไหวไหม เรายังโอเคป่าว ถ้ายังโอเคก็ใช้สปีดนั้นไป แต่ถ้าไม่ก็ลองผ่อนๆ มันลงมาบ้าง

หนักได้ ก็ต้องผ่อนได้

หลายคนบอกว่าชีวิตเรามันเหมือนการวิ่งมาราธอน ที่ความเร็วไม่สำคัญขนาดนั้น ระยะทางสำคัญกว่าเยอะ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

การเรียนจบ ก็เหมือนกับ 1 ใน checkpoint ของการวิ่งมาราธอนที่ยังต้องดำเนินต่อไปอีกไกลแสนไกล

และก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอนจริงๆ มันก็จะมีช่วงหนักบ้าง เบาบ้าง สลับกันไป

เวลาช่วงเราเจองานหนัก ก็ให้ลุยให้เต็มที่ และคิดว่า “เดี๋ยวมันก็จะเบาลงแล้ว”

เวลาช่วงเราเจองานเบา ก็ต้องเตรียมพร้อมไว้ พักผ่อนให้เต็มที่ อยากหาอะไรทำก็ทำ อยากลองเรียนรู้หรือหัดอะไร ลอง ก่อนที่งานหนักจะมาแล้วจะไม่ได้ทำอะไรกันพอดี

เหมือนที่ฝรั่งก็จะบอกว่า “Work hard. Play harder”

ถึงพลาด…ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ (แต่อย่าพลาดอีก)

ตอนมหาลัยเราได้ยินมาว่า ชีวิตมหาลัยมีดีอย่างนึงคือ ถึงพลาด ก็ยังพอกลับตัวได้ แต่พอทำงานแล้วพลาดแล้วคือพลาดเลย

จริงๆ มันไม่ใช่ซะทีเดียวนะครับ

พี่คิดว่าจริงๆ แล้วการผิดพลาดในครั้งแรก นั้นไม่เป็นอะไรหรอกครับ ทุกคนมันก็พลาดกันได้ทั้งนั้น ยิ่งถ้าบางทีทำงานนั้นๆ ครั้งแรก ความผิดพลาดมันก็มีอยู่แล้ว

ประเด็นมันอยู่ที่ว่าเราเอาความผิดพลาดนั้นกลับมาทบทวนดูหรือเปล่า ว่าพลาดอะไร ถ้าไม่ได้เอามาทบทวน…พี่แนะนำว่าให้เริ่มกลับมาเอาคิดตั้งแต่ตอนนี้เลย

และหากครั้งต่อๆ ไปยังพลาดเรื่องเดิมซ้ำๆ อีก อันนี้จะเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว ซึ่งมันจะส่งผลต่อไปจนถึงที่ว่าเขาจะไม่ไว้ใจเราให้ทำงานแล้วก็ได้ (ซึ่งก็เป็นเรื่องไม่ดีแน่ๆ)

เตรียมพร้อมกับ “ความไม่แน่นอน” อยู่สม่ำเสมอ

ไอ้คำว่า “ทำงานประจำนี่มั่นคงนะ ไม่มีความเสี่ยง” พี่คิดว่าเป็นคำพูดที่ตลกสิ้นดี

จริงอยู่ว่ามันก็มั่นคงระดับนึง แต่ถ้าบอกว่าไม่มีความเสี่ยงเลยคงผิด

สำหรับตัวพี่เองหากใครติดตามมาจะเห็นได้ว่าปีนี้สำหรับพี่เองเป็นปีที่บันเทิงเอาการปีนึง เพราะเป็นปีที่ค่อนข้างเจอเรื่อง “เซอไพรส์” เยอะมากๆ ทำให้ตัวเองต้องเริ่มผันตัวจาก geek เขียนโค้ด มาเป็นคนคุมทีมที่ต้องมองภาพให้กว้างขึ้น

ซึ่งเรื่องเซอไพรส์ที่เจอ มันก็นับเป็นหนึ่งในความไม่แน่นอนเหมือนกันนะ (อยู่ดีๆ ก็จับผลัดจับผลูมาดูทีมเงี้ย) แต่ให้ลองคิดว่าหลายๆ ครั้งเองความไม่แน่นอนมักจะมาในรูปแบบที่โหดร้ายกว่านี้เยอะ ก็อาจจะต้องทำตัวให้เตรียมพร้อมไว้เสมอ

อย่านอนดึกมาก และนอนให้พอ

ถ้าสมัยเรียนก็คงนอนดึก นอนน้อยพอสู้ไหวกับชีวิต แต่พอทำงานแล้วการนอนน้อยและนอนดึกเป็นหนังคนละม้วนกับสมัยเรียนเลย เหมือนร่างกายมันจะรับไม่ไหวแล้วจริงๆ และมันจะส่งผลต่อเนื่องไปจนตอนนั่งทำงานที่ออฟฟิศ สมองตื้อบ้าง ง่วงบ้าง คิดงานไม่ออกบ้าง (ตอนเรียนก็ยังเต็มที่คือเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่ก็หลับในห้อง)

ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรเลี่ยงการนอนดึก นอนก่อนเที่ยงคืนได้ก็จะดีมาก ใครที่นอนดึกจนติดแล้วก็เข้าใจว่ามันก็ต้องค่อยๆ ปรับนาฬิกาชีวิตตัวเองบ้าง ค่อยๆ ขึ้นมาทีละนิดทีละหน่อยละกันครับ (นี่ก็พยายามปรับ ตอนนี้ได้ที่เที่ยงคืนครึ่ง ตื่นแปดครึ่ง — เก้า)

ออมเงิน

เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากจริงๆ ควรมีเงินออมเก็บไว้เผื่อใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเมื่อมีเหตุใช้เงิน ซึ่งวิธีการก็อาจจะมีหลากหลายแล้วแต่คน บางคนก็อาจจะเอาไปฝากประจำเลย จะได้โอนเข้าออกไม่ได้ บางคนเอาไปลงทุนเล่นกองทุน / หุ้น เผื่อให้เงินงอกเงยบ้าง ก็ว่ากันไปตามแต่ละคนละกัน แต่ปัจจัยสำคัญคือต้องทำอย่างสม่ำเสมอ อาจจะตั้งไว้เลยก็ได้ว่าเงินเดือนเข้าปุ๊ป แยกเงินกองนี้ออกไปเลย ไม่เกี่ยวกับเงินส่วนอื่นๆ

ถ้ารู้ตัวว่าไม่ไหว…อย่าฝืน

หลายครั้งที่เรามักจะต้องโดนไปจับงานที่ไม่ถนัด หรือทำไปแล้วไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยโอเค ทำแล้วอารมณ์แบบ ไม่ไหวแล้วโว้ย หากมีโอกาสได้ฟีดแบ็คกับหัวหน้า ก็ให้ฟีดแบ็คไปเลยว่า เออพี่ผมไม่ไหวแล้ว ไม่ชอบงานแบบนี้เลย ถ้าเจอหัวหน้าดี ก็ยินดีด้วยครับ (ถ้าไม่ก็…โชคดีนะ)

ไม่ว่าเรื่องไหนๆ ในชีวิตก็ไม่ควรฝืนเยอะจนเกินไปครับ เพราะผลเสียสุดท้ายตกกับตัวเราทั้งหมดอยู่ดี

(อีกวิธีที่ช่วยระบายความไม่ไหวแล้ว คือบ่นมันออกมาซะเลยครับ)

พบเจอเพื่อนฝูงบ้าง

การไปเจอเพื่อนฝูงบางครั้งก็จะช่วยฮีลเราในหลายๆ เรื่อง บางทีอาจจะได้ระบาย หรือหาคนฟังเราบ่น บางทีก็อาจจะได้พูดคุยสัพเพเหระอัพเดตชีวิตกัน บางครั้งก็ไปทำอะไรโง่ๆ บ้าๆ บ้างสร้างสีสันให้ชีวิต หลายๆ ครั้งเวลานัดเจอเพื่อนกันมันก็เหมือนได้เปิดโลกทัศน์กว้างไปอีกขั้นเหมือนกัน เวลาได้พูดคุยกันบางเรื่องอย่างออกรส

ก่อนจากกัน

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า นี่คือ “ความเห็นส่วนตัว” ล้วนๆ อย่าเชื่อพี่หมด สิ่งที่พี่ทำก็แค่พยายามส่ง message บางอย่างออกไปให้ได้ลองอ่านแล้วไปคิดตกผลึกกันต่อ

ถ้าหากบล็อกนี้ทำให้คนอ่านได้ฉุกคิดอะไรบางอย่างกลับมาบ้าง คนเขียนก็คงจะดีใจแล้ว

Congratulation แด่บัณฑิตประจำปี 2018 ทุกๆ คนอีกครั้งนะครับ :)

ปล.จริงๆ มีอีกบล็อกที่น่าอ่านเหมือนกัน บัณฑิตลองตามไปอ่านได้

Made with ❤️ since 2016