Managing Oneself พยายามจะบอกอะไรกับเรา?

Managing Oneself พยายามจะบอกอะไรกับเรา?

เมื่อต้นปีได้ซื้อหนังสือ Managing Oneself ที่เขียนโดยปรมาจารย์ด้านการจัดการ ชื่อว่า Peter F. Drucker หลังจากอ่านจบ ผมสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าเป็นหนังสือที่ “แนะนำมากๆ” สำหรับคนที่กำลังจะมองหาตัวเองว่าตัวเองเป็นคนยังไง หรือคนที่หาหนังสือแนวพัฒนาตัวเองก็เหมาะกับเล่มนี้เหมือนกัน

ความชอบส่วนตัวของหนังสือเล่มนี้คือ จะแตกต่างกับหนังสือเล่มอื่นๆ ตรงที่ถ้าพูดถึงเรื่องของการจัดการ หรือเรื่องของการพัฒนาตนเอง ก็มักจะบอกกันเป็นข้อๆ หรือมีแนวทางชัดเจน แต่ใน Managing Oneself นั้นจะไม่ได้บอกกับเราตรงๆ แต่จะตั้งคำถามให้เราไปคิดและตกผลึกเอาว่าจะตอบคำถามนั้นว่ายังไง

วันนี้ก็เลยมาเขียนบล็อกเล่าสู่กันฟังครับ ว่าหลังจากอ่านหนังสือแล้วได้ทบทวนอะไรกับตนเองบ้าง (และก็พยายามแกะให้ออกว่า Managing Oneself พยายามจะบอกอะไรกับเรา)

เรารู้จักจุดแข็งของเราแล้ว “จริงๆ” เหรอ

เราทุกคนคงเห็นพ้องต้องการว่า การที่เราจะทำงานอะไรออกมาให้ดีได้นั้น ก็เพราะเรานำจุดแข็งที่เรามีใช้ในการทำงานนั้นๆ หากงานนั้นยิ่งใช้จุดแข็งของเรามากเท่าใด งานก็จะออกมาดีตามนั้น

แต่ความยากคือ คนส่วนมากยังไม่รู้ว่าจุดแข็งของตนเองคืออะไร

หรือ บางคนที่รู้แล้ว จะแน่ใจได้ยังไงว่า “นี่คือจุดแข็งของเราเองจริงๆ” (นั่นคือไม่ได้คิดไปเอง)

เช่น บางคนคิดว่ามีจุดแข็งคือเป็นนักต่อรอง เพราะคิดว่า ตนไปต่อรองราคาที่ร้านต่างๆ แล้วมักจะชนะเขาทุกครั้ง แต่พอไปต่อรองในเรื่องอื่นๆ กลับไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว อันนี้ก็ถือว่าไม่ใช่จุดแข็งของเราเองจริงๆ

สิ่งที่จะทำให้เราแน่ใจได้ว่า สิ่งนี้คือจุดแข็งของเราจริงๆ นั้นก็อาจจะมีหลากหลายวิธีครับ แต่วิธีนึงที่ดรักเกอร์ได้นำเสนอในหนังสือก็คือการทำ feedback analysis ครับ

วิธีการก็ง่ายมาก คือให้ตั้งเป้าหมายว่าในเวลา 9–12 เดือนนี้จะทำอะไรได้บ้าง พอถึงเวลาแล้วก็กางเป้าหมายมันมาดู เทียบกับผลที่ได้ แล้วเอาการกระทำระหว่าง 9–12 เดือนนี้มาพิจารณาดูว่าอะไรที่ส่งเสริมให้ถึงเป้าหมาย และอะไรไม่ได้ส่งเสริม

ส่วนวิธีการที่ผมมักชอบทำคือ “ลองสังเกตดูว่าที่ผ่านมามีอะไรที่เราทำประจำตลอดๆ และช่วยให้การทำงานราบรื่นมาตลอด”

อย่างระยะหลังมานี้ผมก็สังเกตตัวเองว่า เป็นคนที่ชอบย่อยเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น หรือเห็นภาพมากขึ้น ซึ่งสังเกตมาจากที่หันมาเขียนบล็อก / อธิบายฟีเจอร์หรือ Business flow ในเชิง tech ให้คนที่เป็น Non-Tech เข้าใจได้ / ย่อยเรื่องยาวๆ เหยียดๆ ให้เหลือสั้นนิดเดียว

เลยคิดว่า จุดแข็งของผมอันนึงคือ “การย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย” (ซึ่งจะเป็นจุดแข็งจริงๆ ไหม ก็ยังไม่แน่ชัดขนาดนั้น แต่คิดว่า 80% คือใช่)

หรืออีกอันที่ผมเจอมาและค่อนข้างจะชัดเจนแล้วคือ เป็นคนที่เรียนรู้ด้วยตนเองได้ดีมากๆ คนนึง (เห็นชัดเจนตั้งแต่เอานู้นนี่นั่นมาลองทำโปรเจคตอนสมัยเรียนมหาลัย)

อย่ามัวเสียเวลาฝึกทักษะที่ไม่ถนัดเอาซะเลย

อะไรที่เรารู้เลยว่าไม่ใช่จุดแข็งของเราแน่ๆ เราไม่ควรเอาเวลา และพลังงานในการฝึกทักษะนั้นๆ** เพราะการที่นำตัวเองจากจุดที่ไม่เป็นเลย มาจุดที่ “พอจะทำได้” นั้นยากกว่าการที่เอาจุดที่ “เราดีอยู่แล้ว” มาทำให้ “ดียิ่งขึ้นไปอีก”**

จริงๆ แล้วผมมองว่า ทักษะอะไรที่เดิมนั้น “พอจะทำได้” ยังพอที่จะลองเอาเวลาและพลังงานทุ่มไปกับมันไปอยู่เหมือนกัน (แต่ถ้าทุ่มพลังไปแล้วพบว่าไม่ได้กระเตื้องขึ้น ก็ต้องหยุดแต่ตรงนั้น)

ถ้าเข้าใจว่าเราทำงานแบบไหน ก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

นอกจากจุดแข็งที่เป็นสิ่งที่เราควรรู้ เพื่อจะได้สามารถนำจุดแข็งนั้นไปพัฒนาต่อยอด และนำไปใช้ในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น แต่อีกสิ่งที่สำคัญพอๆ กันกับจุดแข็งเลยคือ วิธีการทำงานของเราครับ

อย่างในเล่ม ดรักเกอร์ได้ให้เราลองคิดว่า เราเป็น “ผู้อ่าน” หรือ “ผู้ฟัง” ที่ดี

จริงอยู่ที่เรามักจะคิดว่า คนที่ทำทั้งสองอย่างได้ดีมันมีแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วคนเหล่านั้นกลับเป็นคนส่วนน้อยครับ

บางคนสามารถอ่านอีเมลยาวเหยียดให้เข้าใจได้ ในขณะที่อีกคนอ่านอีเมลยาวเหยียดละยังงงเป็นไก่ตาแตก แต่พอกลับไปนั่งฟังคนอื่นอธิบายเนื้อความเดียวกันกับอีเมลฉบับนั้นกลับเข้าใจเฉยเลย

หากเราเข้าใจว่า เราเป็น ผู้อ่าน เราก็ต้องหาวิธีที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ผ่านการอ่านเป็นหลัก ไม่ใช่การนั่งฟัง และในทางตรงข้ามก็เช่นกัน

ซึ่งถ้าเราเข้าใจว่าเราเป็นคนแบบนี้ เวลาทำงานก็จะส่งเสริมให้ทำงานได้ดีขึ้นไปอีก (คนเก่งก็มักอยากจะทำงานที่เขาถนัด ในวิธีการของเขาเอง)

อย่าคิดว่าทุกคนจะเรียนรู้ได้ด้วยวิธีการที่เหมือนๆ กัน

ความไม่สำเร็จประการนึงของระบบการศึกษาคือ การที่ระบบเชื่อว่า ทุกๆ คนสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยวิธีการเดียวกัน นั่นคือการนั่งฟัง lecture

แต่ในความจริง วิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ทุกคน ก็มีความเป็นปักเจก มีความแตกต่างกันมากๆ เหมือนกัน

ผมเองมักจะเรียนรู้การเขียนโปรแกรม ผ่านการลงมือทำจริง ผ่านการทำโปรเจคที่จะนำไปใช้งานจริงหรือไม่ใช้งานจริงก็ไม่รู้ล่ะ แต่มันก็ได้ลงมือทำจริงๆ

แต่ในขณะที่เพื่อนผมอีกคน ก็เรียนรู้การเขียนโปรแกรมได้ด้วยการนั่งเรียนคอร์สออนไลน์

รวมถึงวิธีการล้านแปดในโลกนี้ที่จะสามารถมีได้ เช่น การเขียนลงในกระดาษ / การพูดกับตัวเอง / การอ่าน / การสอนคนอื่น

ดังนั้น การขัดเกลาความสามารถให้แข็งแกร่งขึ้น หากรู้ว่าเราเรียนรู้สิ่งต่างๆ ยังไงแล้ว ก็ไม่ยากที่จะขัดเกลาความสามารถใหม่ๆ ให้ดียิ่งขึ้นด้วยวิธีการเรียนรู้แบบนั้น

ทุกๆ คนมีความเป็นตัวของตัวเอง

อีกสิ่งที่ดรักเกอร์ตอกย้ำให้ความสำคัญไม่แพ้กับการเข้าใจในตนเอง ก็คือการเข้าใจในตัวเพื่อนร่วมงานด้วยเหมือนกัน

เรามักจะชอบคิดแต่ว่า เออเราเข้าใจว่าเราเป็นคนยังงี้ แต่เราดันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเพื่อนร่วมงานคนอื่นถึงเป็นแบบนี้ ถึงทำงานแบบนี้ นั่นก็เพราะว่า มนุษย์ทุกคนนั้นมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีมนุษย์คนไหนที่เหมือนกัน identical 100% หรอก (แม้กระทั่งแฝดหน้าตาเหมือนกัน แต่นิสัยใจคอ วิธีการทำงานก็ยังต่างกันเลย)

อย่าลืมว่า ถ้าเรายังคิดว่าเราถนัดที่จะทำงานแบบนี้ เราก็ไม่ควรไปตัดสินเขาว่า ทำไมเขาถึงทำงานแบบนี้

ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นหัวหน้าที่ดีได้ และไม่ใช่ทุกคนที่เป็นลูกน้องที่ดีได้

นายพลแพตตัน ที่มีบทบาทในสงครามโลกเป็น case study ที่ดีของประโยคนี้

สมัยที่นายพลแพตตันยังเป็นทหารใต้บังคับบัญชา เขาเป็นทหารที่เก่งกล้าสามารถมากๆ มีความสามารถสูง เขาเป็นลูกน้องที่ดีมากๆ คนนึง

แต่ก็มีคนวิพากษ์เขาว่า **“เขาจะเป็นลูกน้องที่ดีที่สุด แต่เขาจะเป็นหัวหน้าที่ห่วยที่สุด” **ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นจริง ตอนเขาเป็นผู้บังคับบัญชา เขากลับเป็นผู้บังคับบัญชาที่แย่มาก ซึ่งตอนนั้นมีเหตุการณ์ที่นายพลแพตตันตบหน้าทหารสองคนที่ถูกวินัจฉัยแล้วว่าเป็นโรคกลัวสงครามอย่างรุนแรง จนทำให้ต้องมีการสอบสวนนายพลแพตตันยกใหญ่ พร้อมทั้งพักงาน และชาวอเมริกันก็ไม่พอใจกับการกระทำของนายพลแพตตัน

ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่ตอนเป็นลูกน้อง เป็นลูกน้องที่ดีมากๆ แต่พอเลื่อนขั้นมาเป็นหัวหน้าจะเป็นหัวหน้าที่ดีได้แบบตอนเป็นลูกน้อง

Trust

และ trust ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างนึงในองค์กรเหมือนกัน

คนทางฝั่ง business เองก็ต้อง trust และเห็น value ในสิ่งที่ทีม development ทำ เช่นการ spend เวลาไปกับการทำ test การทำระบบ infra หรือระบบ security ที่ไม่ได้มีผลเชิง business ตรงๆ แต่มีผลกับความมั่นคงของ product

ในขณะเดียวกัน คนทางฝั่ง development เองก็ต้อง trust ในความสามารถของ business ที่จะ drive product ไปให้ถูกจุด ไปให้ถูกทิศทางเหมือนกัน

หากแต่ละคนในองค์กรทำงานกันด้วยความไม่เชื่อใจกัน ผมเชื่อว่า นั่นแหละพินาศละ

ที่ปรึกษา !== คนตัดสินใจ

ที่ปรึกษาจะให้หนทางที่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่เวลาจะตัดสินใจจริงๆ นั้น ที่ปรึกษามักจะไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะจะรับมือกับผลกระทบที่ตามมาไม่ได้ แม้ไอ้ผลกระทบนั้นจะเป็นสิ่งที่เขาประเมินมานั่นเอง (หรือถึงแม้ว่าที่ปรึกษาคิดว่า ทางนี้นี่แหละ คือใช่ แต่ก็จะไม่กล้าตัดสินใจอยู่ดี)

นั่นทำให้ในหลายๆ ที่นั้น เมื่อมืออันดับสอง (ที่ปรึกษา) ต้องขยับเป็นอันดับหนึ่ง (คนตัดสินใจ) มักจะทำมันได้ไม่ดี (และแน่นอนว่า มืออันดับหนึ่งนั้นก็มักอยากจะได้ที่ปรึกษาส่วนตัวที่เก่งๆ ไว้เป็นมืออันดับสองขององค์กร)

ที่ที่เราอยู่ มีผลกับประสิทธิภาพ

แม้ว่าเราจะมีความสามารถ เรารู้จุดแข็ง เรารู้วิธีการทำงานของเราแล้ว แต่ที่ที่เราอยู่นั้นกลับไม่สามารถส่งเสริมให้ใช้สิ่งเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์เลย ก็ย่อมไม่ดีแน่ ดังนั้นที่ที่เราอยู่นั้น ก็มีผลเหมือนกัน

นั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมบางคนไปทำงานกับบริษัทที่อาจจะไม่ได้ offer เยอะเท่ากับอีกทีนึง ก็เพราะว่าเขารู้สึกว่าที่ที่นั้นมัน “ใช่” กว่า แค่นั้นเอง

ทำให้บางคนก็จะเหมาะกับบริษัทเล็กๆ เช่นผมเองก็รู้สึกว่าเหมาะกับบริษัทเล็ก เพราะยังอยาก shape skill ให้เก่งขึ้น การทำบริษัทเล็กๆ หรือ startup มันจะช่วยให้เราเก่งขึ้น เพราะมีโอกาสได้ทำอะไรมากขึ้น แต่อีกคนอาจจะชอบบริษัทใหญ่ๆ เพราะอยากจะรู้ระบบการทำงานกับคนเยอะๆ รวมถึงการดูแลลูกค้าที่มีจำนวนมหาศาล

อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง

เป็นคำพูดที่สุดจะหักปากกาเซียนของหนังสือแนวพัฒนาตนเองมากๆ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เราก็คือเราเอง เราพยายามอย่าใช้แรงหรือพลังจำนวนมาก เพื่อเปลี่ยนความเป็นตัวตนของเราเองเลย

จริงอยู่ที่เราพัฒนาทักษะในหลายๆ จุดให้ดีขึ้นแล้ว แต่บางอย่างก็ยังเหมือนเดิม เราก็ยังเป็นตัวเรา เราก็ต้องเข้าใจในจุดนี้

อุทิศตนทุ่มเททำสิ่งนั้น !== ทำโดยโนสนโนแคร์

หลายคนเวลาพูดถึงการอุทิศตนเพื่อทำสิ่งๆ นึง มักจะคิดว่าอุทิศตนเพื่อทำสิ่งนั้นแบบไม่สนอะไรเลยทั้งนั้น จริงๆ แล้วเป็นความคิดที่คิดผิดมหันต์

ดรักเกอร์แนะนำว่า ให้ลองคิดว่า “ในโจทย์นี้ เราสามารถทำอะไรให้ได้บ้าง ด้วยจุดแข็ง และวิธีการทำงานของเรา ที่สามารถสร้างความแตกต่างได้”

ซึ่งโจทย์ที่ดี ที่จะทำให้เราพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นนั้น ควรจะเป็นโจทย์ที่มีกรอบเวลาชัดเจน ไม่ยืดเยื้อเกินไป และไม่เร็วเกินไป รวมถึงสิ่งที่จะทำนั้นจะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่จะสร้างความแตกต่างได้

หากโจทย์ไม่ดี การทุ่มเทไปแม้เราจะมีความสามารถในสิ่งนั้นๆ ก็ตาม แต่สุดท้ายเราจะพบว่ามันเหมือนกับเราทำงานไปงั้นๆ แหละ ไม่ได้สร้าง value อะไรให้ตัวเองเอาไปเล่าให้คนอื่นฟังอย่างภาคภูมิใจ รวมถึงอาจจะไม่ได้สร้าง value ให้กับองค์กรอีกต่างหาก

สื่อสารกันเยอะๆ

การสื่อสารกันเยอะๆ ที่ไม่มากเกินไป ย่อมมีผลดีแน่ๆ สิ่งที่เราควรสื่อสารให้คนอื่นรู้หลักๆ คือ เรากำลังทำอะไรอยู่ และงานของเราจะส่งผลอะไรออกมาบ้าง หรือจะมี value อะไรออกมา คนอื่นก็จะได้เข้าใจว่า status ของงานเราตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

อีกอย่างนึงคือการพยายามสื่อสารเพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าเราเป็นคนที่ทำงานแบบไหน เราถนัดอะไร คนอื่นที่ทำงานร่วมกันกับเราก็จะได้เข้าใจว่า เออเราเป็นคนทำงานแบบนี้ เวลาที่จะต้องคุยงานด้วยกันก็จะได้ใช้วิธีที่จะสื่อสารกันได้ถูกต้อง (เช่นถ้าผมรู้ว่าเพื่อนร่วมงานผมเป็นนักฟัง ผมก็จะใช้วิธีการพูดแบบ face-to-face ในการสื่อสารงานมากกว่าการเขียนข้อความส่งใน Slack หรือการส่งอีเมล)

อีกครึ่งของชีวิต

ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องที่คนหนุ่มสาวหลายคนก็คงไม่ได้คิด หรือคิดไม่ถึงกันแน่ๆ คือการเตรียมความพร้อมสำหรับอีกครึ่งหนึ่งของชีวิต นั่นคือในชีวิตช่วงวัยกลางคน

เพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ ถ้าเราทำงานกันมาเรื่อยๆ จะเป็นช่วงเวลาที่ฝีมือ, ความสามารถ และหน้าที่การงานเริ่มจะมาที่จุดสูงสุดของอาชีพแล้ว

นั่นทำให้สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือจะเบื่อขึ้นมา…การหาอาชีพที่สองของชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ควรเตรียมตัวไว้

และการหาอาชีพที่สองไม่ใช่ว่าจู่ๆ ก็จะทำตอนที่ชีวิตถึงวัยกลางคนแล้วนะ ถ้าให้ดีคือต้องทำมาก่อนหน้าช่วงนั้น (คือเตรียมความพร้อมไว้ว่ามันกำลังจะมาแล้ว)

ซึ่งอาชีพที่สองจะเป็นอะไร ก็แล้วแต่เราเลย บางคนอาจจะเปิดกิจการตนเอง บางคนอาจจะหางานใหม่ ที่ไม่ได้ตรงกับสายงานที่เราทำงาน หรือบางคนอาจทำอาชีพที่สองควบคู่กับอาชีพหลักก็ได้

ซึ่งอีกข้อดีของการมีอาชีพที่สอง ไม่ใช่แค่ว่ากันเราเบื่อไปก่อนกับงานหลักเมื่อถึงจุดสูงสุด แต่กันเผื่อว่าเกิดวิกฤตบางอย่างเกิดขึ้น เช่น บริษัทขอให้ออก เพราะกำลังขาดทุนอย่างหนัก อาชีพที่สองอาจจะกลายเป็นที่ชุบตัวใหม่เพื่อให้มันกลับมาเป็นอาชีพแรกแทน

ทั้งนี้ทั้งนั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ก็คือตามชื่อหนังสือ “Managing Oneself” คือศาสตร์แห่งการจัดการตนเอง ในท้ายสุดแล้วคนที่จะรู้จักเราที่สุด ก็ไม่ใช่คนอื่น แต่คือตัวเราเอง ดรักเกอร์ หรือแม้แต่ผมที่เขียนเรื่องนี้ให้อ่านกัน ก็ไม่ใช่คนที่รู้จักตัวคุณเองดีที่สุด

ยังไงถ้าใครสนใจในหนังสือเล่มนี้ ผมก็แนะนำครับ แล้วก็ใกล้จะงานหนังสือแล้วด้วย ถ้ามีโอกาสไปสอยก็ไปสอยที่งานหนังสือได้ครับ หรือไม่ก็ตามร้านหนังสือเลย

ราคาแม้จะแพงเมื่อเทียบกับขนาด แต่คุณภาพคับเล่มจริงๆ ครับ

ปล.อาจจะเห็นหลังๆ ไม่ได้เขียนบล็อกแนวโค้ด จริงๆ คือยังไม่มีเรื่องอยากจะเขียนครับ 5555 เลยลองเปลี่ยนแนวการเขียนบล็อกดู :D

Made with ❤️ since 2016