ทำความรู้จักกับ Hooks ของ React: ฟีเจอร์ที่จะมาเปลี่ยนการเขียน React ไปตลอดกาล

ทำความรู้จักกับ Hooks ของ React: ฟีเจอร์ที่จะมาเปลี่ยนการเขียน React ไปตลอดกาล

เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา คนที่เขียน React หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของ hooks ฟีเจอร์ใหม่ที่กำลังจะมาในอนาคตอยู่บ้าง วันนี้ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังกันว่ามันคืออะไร แล้วทำไมคนถึง hype ฟีเจอร์นี้กันหนักหนา

เราจะ reuse logic ได้ยังไงใน React?

เหตุเกิดจากที่ว่ามีคนตั้งคำถามที่ง่ายมากๆ คือเราจะ reuse logic ใน React ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้นก็มีคนพยายามหาวิธีเพื่อมา solve สิ่งนี้มาหลายต่อหลายรุ่นหนัก ผมขอเล่าให้ฟังก่อนจะพูดถึง hooks กันจริงๆ จังๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า ทำไมการมาของ hooks คนถึง hype กันนัก

ยุคสมัยแห่ง Higher Order Component (HoC)

สำหรับคนที่สงสัยว่า Higher Order Component (ย่อว่า HoC) คืออะไร คำนิยามของมันสั้นๆ ก็คือ

เป็นฟังก์ชันใดๆ ที่รับตัว Component เข้าไป แล้วมันจะ return Component ใหม่ออกมา

HoC คือฟังก์ชันที่รับ Component แล้วได้ Component ใหม่ออกมา

สิ่งที่ตัว function นั้นมักจะทำกันก็คือ เรามักจะ reuse logic บางอย่างในตัวฟังก์ชันนั้นๆ ให้มากสุดเท่าที่จะมากได้

ขอยกตัวอย่างจาก docs หลักของ React มาละกัน

สมมติเดิมเรามี component CommentList ที่จะมีการ subscribe ตัว data source แล้วนำมาแสดงผล

ตัวอย่าง CommentList

ก็ตรงไปตรงมาตามปกติ เราทำการ subscribe ตัว data source ได้ใน lifecycle componentDidMount เขียน function handleChange เพื่อรอการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล แล้วก็ clear listener ที่ subscribe ตัว data source ไว้ในจังหวะ componentWillUnmount

โอเค สมมติต่อมาเราทำ component BlogPost กันบาง โดยจะมีการ subscribe ตัว data source แล้วนำมาแสดงผลเช่นกัน

ตัวอย่าง BlogPost

อาจจะเริ่มสังเกตได้ว่า เฮ้ย เราเจอโค้ดซ้ำซ้อนกัน ถ้าเราดูดีๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้จะมีความคล้ายคลึงกันกับตัว CommentList เลย คือ

  • เรา subscribe ตัว data source ที่ componentDidMount
  • เราเคลียร์ listener ที่ componentWillUnmount
  • เรามีฟังก์ชันเพื่อรองรับการอัพเดตข้อมูลคล้ายๆ กัน (ฟังก์ชัน handleChange)

เราก็เลยอยากจะ reuse logic ทั้งสามอย่างที่เราเห็นว่ามันทำหน้าที่คล้ายๆ กัน โดยจะทำเป็นฟังก์ชันที่ชื่อว่า withSubscription โดยจะรับ component และฟังก์ชันที่จะใช้ในการอ่านข้อมูลจาก data source มาเป็น parameter เพราะหากเราดูดีๆ แม้ว่าขั้นตอนจะคล้ายๆ กัน แต่มีการดึงข้อมูลคนละตัวกัน

  • CommentList อ่านข้อมูลจาก DataSource.getComments()
  • ส่วน BlogPost อ่านข้อมูลจาก DataSource.getBlogPost()

พูดง่ายๆ คือ ในปลายทางของเรา เราจะใช้ HoC ชื่อ withSubscription ในการ reuse logic ทั้งสามที่ผมบอกไว้ แล้วเวลาจะเรียกใช้ เราจะทำแบบนี้แทน

How to use withSubscription

แล้วเราก็สามารถนำ component CommentListWithSubscription ใช้งานแทน CommentList ดั้งเดิม กับ BlogPostWithSubscription ใช้งานแทน BlogPost ดั้งเดิม

แล้วมัน implement ยังไง

Implementation of withSubscription

เราจะเห็นได้ว่า ตัว function นี้ จะรับ component มา แล้ว return component ใหม่ออกไปก็จริง แต่ตัว component ที่รับมา จะไม่โดน mutate ใดๆ เสมือนว่าจริงๆ แล้วฟังก์ชันนี้ทำการ “ห่อ” component เก่าด้วย “logic หรืออะไรก็ตามแต่ที่อยากจะทำ” แล้วก็ส่งออกเป็น component ใหม่เอาออกไปใช้งานได้เลย

โดยจุดที่เรา reuse ได้ ก็คือสามส่วนที่ผมได้บอกไว้

  • ใน componentDidMount เราทำการ subscribe data source
  • ใน componentWillUnmount เราทำการเคลียร์ listener ทิ้ง
  • ฟังก์ชัน handleChange จะคอย set state ของ data โดยอิงตาม parameter ที่สองของฟังก์ชัน withSubscription ที่ส่งมา อารมณ์ประมาณว่าเขียน callback function เพื่อดึงข้อมูลยังไง ก็ทำตามนั้น ไม่ทำอะไรนอกเหนือจากนั้น

HoC ก็ดูดีใช่มะ?

มันดูดี เพราะว่านอกเหนือจากเรา reuse logic บางส่วนได้แล้ว อีกข้อดีคือเราสามารถห่อมันไปอีกหลายๆ ชั้นได้

เช่น เราคุ้นเคยกับฟังก์ชัน connect ใน react-redux ฟังก์ชัน connect ก็เป็น HoC แบบนึงอย่างไม่ต้องสืบ

connect from react-redux

หรืออย่าง react-router ก็จะมี withRouter เพื่อให้ component รู้ว่า ตอนนี้อยู่ที่ route อะไร ก็เป็น HoC เหมือนกัน

withRouter

เราสามารถใช้สองสิ่งนี้คู่กันได้ เพราะอย่าลืมว่า HoC จะ return Component ใหม่ออกมา ดังนั้นเราก็เรียกซ้อนกันแบบนี้ได้

HoC of HoC is HoC

HoC ของ HoC ก็คือ HoC

แต่ก็ไม่ดีขนาดนั้น

บางครั้งเรามักใช้ HoC เยอะไปจนลืมตัว และจุดบอดของมันที่สำคัญสุดคือ เราจะเริ่ม debug ยากขึ้นหากซ้อนกันเยอะๆ เพราะตัว HoC เองมีการ conceal รายละเอียดทิ้งไปหมดเลย เช่น props ใหม่งอกมาจาก HoC ตัวไหนกันแน่ เพราะโดยหลักการส่วนมากแล้ว HoC มักจะเป็นตัวที่คอยสร้าง props ใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ พอใช้หลายๆ อัน ถึงจุดนึงก็จะงงงวยว่าอี props นี้งอกมาจากไหนวะ

และขั้นต่อมาคือ debug ยากขึ้น พอไปส่อง React Devtools ก็จะเจอสิ่งนี้

WTF

เพราะท้ายสุดในเชิง implementation มันก็คือการ generate component ใหม่ออกมาเรื่อยๆ ดังนั้นถ้า wrap ไป 6-7 ชั้น ก็สวัสดีปีใหม่ เจอแน่ๆ 6-7 layer กว่าจะหาเจอว่าพังตรงไหนก็น้ำตาท่วมนอนตายไปก่อนแล้ว

Render Props จึงเกิดมาเป็นอีกหนึ่งแนวคิด

โดย Render Props เป็นแนวคิดที่ว่า

รับ props ที่จะคอยบอกว่า จะ render data แบบไหน

Render Props pattern

ยกตัวอย่างจาก doc ของ React อีกครั้ง สมมติผมทำ Component ชื่อ MouseTracker ไว้ทำการ detect ตำแหน่งของเมาส์ในจอ โดยโค้ดหน้าตาเป็นดังนี้

MouseTracker

ก็ตรงไปตรงมา เราใช้ onMouseMove เพื่อดัก event ตอนเมาส์เคลื่อนที่ใน div นั้นๆ แล้วทำการ setState ใหม่เพื่ออัพเดตตำแหน่งที่จะไป render ตำแหน่ง x, y ในแท็ก <p>

แต่ทีนี้ถ้ามีจุดไหนที่เราอยากจะต้องการรู้ตำแหน่งของเมาส์ในลักษณะแบบนี้เหมือนกัน แต่เปลี่ยนวิธีการ render เฉยๆ เราจะทำยังไงดี?

ขั้นแรกเลยถอด MouseTracker ออกให้เป็น component ชื่อว่า Mouse แทน โดยที่ component นี้จะสนใจเรื่องของตำแหน่งของเมาส์เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นได้ จึงได้ component หน้าตาแบบนี้

Mouse

ทีนี้ถ้าเราอยาก render component อื่นนอกเหนือจาก tag <p> เราจะทำยังไงได้ วิธีการที่ง่ายสุดคือ ก็ทำ component ใหม่เลย เช่น ชื่อ MouseWithCat ถ้าอยาก render รูปแมวตามตำแหน่งของเมาส์แทน tag <p> แบบเดิมๆ

MouseWithCat

โอเค มันก็คงจะทำได้แหละ ถ้าหากมี component แค่ MouseWithCat แต่ถ้าอนาคตเราอยากวาดรูปเสือ เราต้องไปทำ component MouseWithTiger อีกอันงั้นเหรอ? ก็คงจะไม่ดีใช่มะ

ดังนั้น แทนที่เราจะ render สิ่งนั้นตรงๆ เราทำให้การ render dynamic มากขึ้น โดยขึ้นอยู่กับ props ที่ส่งมา นั่นทำให้เราเรียก pattern นี้ว่า render props ยังไงล่ะ

Render Props is here

ดังนั้น ต่อให้มี component ที่ต้องทำอะไรแบบนี้อยู่สิบอัน เราก็มาใช้ Mouse อันเดียวเพื่อจัดการเรื่องตำแหน่งของเมาส์ได้ ส่วนจะ render แบบไหน ขึ้นกับ use-case

Render Props แบบขี้เกียจ ก็ใช้ children ซะเลย

จริงๆ ใน React มันจะมี props ชื่อว่า children สำหรับอ้างอิงถึง child ของตัว component อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อผนวกกับ pattern นี้ จริงๆ เราสามารถทำสิ่งนี้แทนได้

Use children

เอามันไปอยู่ใต้ component เลย ด้วยพลังแห่ง JSX!

แต่ใดๆ ในโลกมากไปก็ไม่ดี

ถ้าจุดบอดของ HoC คือการ wrap หลายๆ ชั้นแล้ว props งอกมาจากไหนก็ไม่รู้ render props จะเจอป้ญหาเรื่องของ render props hell ซึ่งล้อเลียนมาจาก callback hell

Render Props Hell

เช่น มี use-case นึงที่เคยเจอคือ ในการแสดงผลราคา product ต้องดึงข้อมูลของ Trip ผ่าน TripProvider ข้อมูลราคาผ่าน TripPricingProvider และดึงอัตราแลกเปลี่ยนจาก ExchangeRateProvider อีก เพราะต้องมีการเลือกหน่วยเงิน ซึ่งทั้ง 3 component นั้นใช้ render props pattern ที่ต่างคนต่างส่งข้อมูลออกมาให้ผ่าน children

ผลคือถ้าอยากใช้ทั้งสาม ถ้าเราไม่ทำ DataProvider ตัวใหม่ไปเลย เราก็ต้องซ้อน 3 ชั้นแบบนี้

ซึ่งแน่นอนว่าแค่นี้ก็ hell แล้ว กลายเป็นกว่าจะรู้ว่าสุดท้าย render อะไร หาไปเหอะ hell สุดมาก

Hooks จึงเกิดมา เพื่อพยายามแก้ไขสิ่งเหล่านี้!

Hooks นั้น intro มาเพื่อบอกกล่าวทุกคนว่า ในอนาคตหลังจากนี้ หาก component ไหนอยากใช้ state หรือฟีเจอร์บางอันของ React เช่น lifecycle ไม่ต้องไปใช้ class component อีกต่อไป คุณสามารถใช้ functional component ได้ และใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เรียกว่า hooks เพื่อให้ component นั้นมีพลังความสามารถตามที่มีอยู่ (Dan Abramov ผู้สร้าง Redux บอกว่า hook เสมือนกับว่าให้ functional component สามารถ hook เอาฟีเจอร์ต่างๆ ของ React มาใช้งานได้)

เช่น hook พื้นฐานสุดคือ useState ที่จะช่วยให้ functional component มี state ได้แล้วโดยไม่ต้องทำเป็น class component!!!!!!

useState

หากใครเคยใช้ recompose จะคุ้นชินกับสิ่งนี้ดี เพราะมันคล้ายๆ กัน แต่ไม่ใช่ HoC อีก มันมาอยู่ในรูปของการเรียกฟังก์ชันธรรมดาๆ เลย โดยไอเดียคือ หากอยากใช้ state ใน functional component ให้

  • ใช้ฟังก์ชัน useState ในตัว component โดยฟังก์ชันจะ return array สองช่อง โดยที่
  • array ช่องแรกเป็นค่าของ state ในปัจจุบัน
  • array ช่องที่สองเป็นฟังก์ชันใช้เซ็ตค่า state นั้นๆ

เราสามารถใช้ hooks เดียวกันหลายๆ รอบได้ และต่างคนก็ต่าง contain state ของมันเอง!

ใช้หลายๆ ครั้งได้

นอกจาก useState แล้วยังมีอีกตัวนึงคือ useEffect แน่นอนว่าหลายๆ ครั้งเรามักจะต้องมีการทำ data fetching หรือ subscribe data ซึ่งเดิมๆ เราจะไปทำใน componentDidMount แต่ด้วย useEffect เราสามารถใช้แทน lifecycle เดิมๆ สามตัวคือ componentDidMount / componentDidUpdate และ componentWillUnmount จบในตัวได้เลย!

useEffect

useEffect จะรับฟังก์ชันที่จะถูกนำไปรัน ในจังหวะที่เหมือนกับ componentDidMount และ componentDidUpdate พูดง่ายๆ คือ หากสมมติค่าของ state มีการเปลี่ยน ก็จะรันฟังก์ชันใน useEffect อีกครั้ง อย่างในตัวอย่างคือ เมื่อค่าของ count มีการอัพเดต ก็จะมีการเรียกฟังก์ชันใน useEffect อีกครั้ง เพราะการที่ state เปลี่ยน ใน class component ก็จะมีการเรียก componentDidUpdate อีกครั้ง

แล้วความเจ๋งคือ ใน useEffect หากฟังก์ชันที่ใส่ลงไป return ฟังก์ชันอะไรออกมาสักอัน ฟังก์ชันนั้นจะโดนเอาไปรันเสมือนจังหวะ componentWillUnmount เช่น ถ้าเรา subscribe data ไว้ เราก็สามารถ unsubscribe ได้โดยท่าประมาณนี้

useEffect with cleanup

(เราเรียกท่าการ return ในฟังก์ชัน useEffect ว่าการ cleanup effect เสมือนเคลียร์ทิ้งก่อนลาจาก)

ความเทพคือ เราสามารถสร้าง hook ใหม่จาก hook อื่นๆ ได้

ถูกครับ เราสามารถสร้าง hook ใหม่เองได้ เช่น จากตัวอย่างล่าสุด หากผมจะทำ hook จะคอยจัดการเรื่อง state ว่า friend คนนี้ยัง online อยู่ไหม ผมสามารถสร้าง hook ชื่อว่า useFriendStatus ขึ้นมาได้

useFriendStatus and how to use it

ถ้าเราสังเกตดีๆ เราจะเห็นได้ว่า เราสามารถแยก logic ขาดออกมาจาก component ได้พอสมควร โดยที่ทุกอย่างก็ยังดูมีที่มาที่ไป เช่น การใช้ useState เราจะเห็นค่า state ออกมาให้เห็นตรงๆ ออกจากฟังก์ชันเลย ต่างจาก recompose ที่ withState นั้นถูกส่งออกมาใช้เป็น props

ข่าวดีอีกอันคือ hooks จะไม่ก่อให้เกิด Breaking changes ใดๆ

hooks นั้นเป็นฟีเจอร์ใหม่เอี่ยมที่ถูกเพิ่มมา นั่นทำให้ไม่มี breaking change คุณไม่ต้องไปนั่งแก้โค้ดเก่าๆ เลยแม้แต่นิดเดียว class component ยังใช้ได้ยังไง ก็ยังคงใช้ได้ต่อไป และไม่มีแผนจะเอาออกจาก React ด้วย (เอาออกทีบันเทิงสิพี่)

กฎของการใช้ hooks

ถ้าสังเกตดูดีๆ จริงๆ แล้ว hooks เป็นฟังก์ชันที่มีความ magic ระดับนึง ซึ่งมีกฎอยู่แค่สองข้อเท่านั้นที่ต้องทำตามหากต้องการใช้ hooks คือ

  1. ใช้ hook เฉพาะใน React functions เท่านั้น: เช่น ใน functional components กับถ้าจะสร้าง custom hook เอง ห้ามเรียกใช้ hooks ใน JavaScript function ปกติ
  2. เรียก hook ที่ top-level เท่านั้น: ห้ามเรียก hook ใน loop หรือมี condition ครอบ เพราะด้วยตัวการ implementation ของ hook เอง ทำให้ต้องมีการเรียงลำดับการเรียงเหมือนเดิมตลอด (มีเหตุผลที่คอยอธิบายว่าทำไมลำดับการเรียกถึงมีผลกับการใช้ hook)

ลองเอาตัวอย่าง HoC กับ Render Props มาแปลงเป็น hooks ดูสิ

HoC

HoC

HoC version hook

HoC version hook

Render Props

Render Props

Render Props version hook

Render Props version hook

hook ที่ built-in ติดมามีเยอะกว่านี้

บางตัวก็น่าสนใจมากๆ เช่น useContext ที่จะให้การใช้ Context API ของ React ใช้งานง่ายขึ้น หรีอใครชอบ pattern การเปลี่ยน state แบบ Redux reducer ก็มี useReducer ให้ใช้

useReducer

ตัวอย่างด้านบนเป็น useReducer เหมือนเขียน Redux reducer เลยจ้า

จะมาเมื่อไหร่?

ตามโร้ดแมพของทีม React นั้นก็จะมาใน Q1 ของปีนี้ครับ! เตรียมตัวเตรียมใจกันได้เลย แต่ผมค่อนข้างมั่นใจโดยส่วนตัวว่า สิ่งนี้จะมาแก้ปัญหาหลายๆ อย่างที่เราปวดหัวในวันนี้ได้เยอะแน่ๆ เท่าที่ดูทรงแล้วเป็นแนวคิดที่เข้าท่าอยู่พอสมควรเลยแหละ

ข่าวดีคือ

หากคุณอยากลองใช้ hooks ณ ตอนนี้ ในเวอร์ชั่น alpha ของ React 16.7 มีให้ใช้แล้ว แต่มาร์กตัวโตๆ ว่า ยัง alpha นะ ฉะนั้นการเอาขึ้น production จึงต้องระมัดระวังกันไว้นะจ๊ะ พังไปไม่มีใครรับผิดชอบเด้อ

Made with ❤️ since 2016